ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ เผยสถานการณ์ปัญหานอนไม่หลับหรือหลับไม่เพียงพอ น่าเป็นห่วง พบได้ร้อยละ 30-40 ของประชากร คาดมีคนไทยเผชิญราว 19 ล้านคน แต่ยังขาดความเข้าใจ ย้ำเตือนอย่าซื้อยา หรือเอายาจากคนป่วยมากินรักษาอาการเอง ชี้เป็นการแก้ผิดหลัก และไม่ได้ผลในระยะยาว แถมเสี่ยงอันตรายรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีโอกาสเป็นสูงกว่าคนปกติ 2 เท่าตัว แนะให้รีบพบแพทย์ใกล้บ้านเมื่อพบว่าตัวเองนอนไม่หลับติดต่อกัน 2 สัปดาห์ เพื่อรักษาให้ถูกต้องตรงกับต้นตอที่ทำให้เกิดอาการ จะได้ผล ปลอดภัย หรือโทรปรึกษาสายด่วนของกรมสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

รพ.จิตเวชโคราช เผยคนไทย “นอนไม่หลับ” 19 ล้านคน เตือน! รีบหาหมอ อย่าซื้อยา-เอายาผู้ป่วยมากินเอง เสี่ยงอันตรายนพ.กิตต์กวี โพธิ์โน

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า การนอนหลับมีความสำคัญต่อชีวิต ส่งผลดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่เพียงพอเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่จะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งทางการแพทย์เรียกปัญหานี้ว่า อินซอมเนีย (insomnia) พบได้ทุกช่วงวัยมากถึงร้อยละ 30-40 ของประชากร คาดว่าทั่วโลกมีผู้เผชิญปัญหานี้ประมาณ 2,000 ล้านคน ส่วนไทยคาดว่าจะมีประมาณ 19 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเกิดแบบช่วงสั้นๆ โดยมีประมาณร้อยละ 10 ที่เป็นแบบเรื้อรังคือมีปัญหานอนไม่หลับมานานกว่า 3 เดือน ซึ่งการนอนไม่หลับนี้เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด อารมณ์หงุดหงิด ไม่มีสมาธิได้

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า ในคนทั่วไปสามารถเกิดอาการนอนไม่หลับได้สัปดาห์ละ 1-2 คืน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในรายที่ผิดปกติ จะมีปัญหาติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์และต่อเนื่อง ลักษณะอาการที่พบบ่อยได้แก่ 1.นอนไม่หลับ หรือหลับลำบาก 2. หลับไม่สนิท 3. ตื่นขึ้นมากลางดึกหรือหลับๆตื่นๆ 4. ตื่นเร็วกว่าปกติ และ 5. ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น ซึ่งชาวบ้านมักจะเปรียบเปรยผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับว่า ขอบตาดำเหมือนหมีแพนด้า เนื่องจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี ปัญหานี้ทางการแพทย์จัดว่าไม่ใช่ตัวโรค แต่เป็นอาการที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ โดยสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับมีหลายประการ ทั้งจากโรคทางกาย เช่น โรคไขข้ออักเสบ กรดไหลย้อน มาจากสิ่งแวดล้อมเช่นมีเสียงรบกวน ห้องนอนสว่างเกินไป หรือจากอุปนิสัยที่ไม่ถูกสุขลักษณะก่อนนอน เช่น ทานอาหารย่อยยาก เล่นเกม ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น

“ที่พบได้บ่อยคือ มีเหตุมาจากปัญหาจิตใจ ที่สำคัญคือความเครียด วิตกกังวล โดยหากอาการต้นเหตุที่กล่าวมาหายไป ปัญหาการนอนหลับก็จะดีขึ้นเอง แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ พบว่าประชาชนที่นอนไม่หลับ ยังขาดความเข้าใจ มักจะไม่ได้คิดถึงไปที่สาเหตุ แต่จะมุ่งแก้ที่อาการ โดยก่อนที่จะไปพบแพทย์ ส่วนใหญ่มักจะหายามากินเองก่อน ซึ่งที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ พบได้เกือบ 100% พบได้ 2 ลักษณะคือใช้ยาที่ซื้อทางอินเตอร์เน็ตหรือจากร้านยา มีทั้งยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นยาประเภทฮอร์โมนที่ควบคุมวงจรการนอนหลับ การตื่นของมนุษย์หรือยาทำให้นอนหลับ และอีกลักษณะหนึ่งคือขอแบ่งยานอนหลับมาจากผู้ป่วยที่รู้จักคุ้นเคย มาทดลองกิน ปัญหานี้พบได้ทั้งเขตเมืองและชนบท เพราะประชาชนเข้าใจว่ายาใช้ด้วยกันได้ แก้อาการนอนไม่หลับเหมือนกัน คาดว่าพื้นที่อื่นๆก็น่าจะเป็นลักษณะเดียวกัน” นพ.กิตต์กวี กล่าว

นพ.กิตต์กวี กล่าวต่อไปว่า การหายามากินเพื่อรักษาอาการนอนไม่หลับเอง นอกจากใช้ไม่ได้ผลในระยะยาวแล้ว ยังเสี่ยงเป็นอันตรายต่อตัวเอง เนื่องจากยาแต่ละชนิดที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ และที่ใช้รักษาผู้ป่วยแต่ละรายแตกต่างกันตามลักษณะอาการ สาเหตุและข้อบ่งชี้การใช้ ใช้ด้วยกันไม่ได้แม้ว่าจะมีอาการนอนไม่หลับเหมือนกันก็ตาม โดยเฉพาะหากอาการที่นอนไม่หลับเกิดมาจากความเครียด วิตกกังวล หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องมาตั้งแต่ต้น จะทำให้โรคเพิ่มความรุนแรงขึ้น ถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จากการศึกษาวิจัยพบมีความเสี่ยงสูงกว่าคนปกติถึง 2 เท่าตัว และทำให้เป็นโรคทางจิตอื่นๆ เช่น ไบโพลาร์ เกิดประสาทหลอนได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสป่วยโรคทางกาย เช่นความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม โรคหัวใจ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

“ขอแนะนำให้ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ทุกสิทธิการรักษา ควรรีบปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หลังจากที่รู้ตัวว่านอนไม่หลับติดต่อกันมา 2 สัปดาห์ หรือโทรปรึกษาที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง จะได้ผลดีและปลอดภัย ทั้งนี้การรักษาโดยทั่วไปจะมี 3 วิธี คือรักษาที่สาเหตุที่เกี่ยวข้อง รักษาโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม และการใช้ยา จะเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้” นพ.กิตต์กวี กล่าว