ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ระบุ การเรียนรู้ ประสบการณ์ และการสรุปบทเรียน คือเหตุผลทำให้การเกิดขึ้นและคงอยู่ของความสุข ความทุกข์ของแต่ละคนต่างกัน ในขณะที่การมีทัศนคติแบบสุดโต่ง ไม่ว่าด้านบวกหรือลบ มีโอกาสทำให้เกิดความทุกข์ได้ง่าย แนะวิธีจัดการกับความทุกข์ทีใครก็ทำได้ คือ การมีพื้นที่หรือมีงานอดิเรก ที่สามารถปลีกตัวไปแสวงหาความสงบหรือความสุข ตามที่ต้องการได้ และการมีผู้รับฟังในยามที่เราเป็นทุกข์

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการรวบรวมความเห็นและทบทวนองค์ความรู้ในเรื่องความสุข พบว่า เงื่อนไขที่ทำให้คนเรามีความสุขมี 3 เงื่อนไข คือ

1) เงื่อนไขภายนอก หมายถึง ความสุขจากการได้รับการตอบสนองความพึงพอใจโดยเฉพาะจากประสาทสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง เช่น การได้กินอาหารอร่อย ๆ การได้ฟังเพลงเพราะ ถึงจะเป็นความสุขเพียงชั่วคราวก็สามารถประคับประคอง ให้ลืมความทุกข์และสร้างลักษณะนิสัย เห็นความดีงาม จากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน

2) เงื่อนไขจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเช่น การมีเพื่อน มีกัลยาณมิตร มีมนุษย์สัมพันธ์ ย่อมมีโอกาสทั้งการมีความสุข และผ่อนคลายความทุกข์

3) เงื่อนไขภายในตนเอง ซึ่งเกี่ยวพันกับทัศนคติส่วนตัว หากเน้นการมีคุณธรรม การทำประโยชน์ต่อสังคม และดำเนินชีวิต ในทางสายกลาง ย่อมมีโอกาส เกิดทุกข์ได้น้อยกว่าการดำเนินชีวิต หรือ มีทัศนคติแบบสุดโต่ง

ที่น่าสนใจ คือ ความสุข ความทุกข์ เป็นของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับทุกคน เกิดขึ้นชั่วระยะหนึ่งแล้วก็หายไป แต่จะต่างกันที่การเกิดขึ้นและคงอยู่ของความสุขความทุกข์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ประสบการณ์และการสรุปบทเรียนของแต่ละคน บางคนมีนิสัยสุขได้ยาก บางคนมีนิสัยทุกข์ง่าย ทั้งนี้คนที่ทุกข์ง่าย ควรต้องระวังความคิดตนเอง มองตน มองคน มองโลก อย่างเป็นกลาง ไม่โน้มเอียงไปข้างลบ ส่วนคนที่สุขยาก ต้องรู้จักเสพสุข มองโลกด้านสวยงาม มีสุขกับสิ่งเล็กน้อย เป็นนิสัย

“นอกจากนี้ยังพบว่า ความคิดที่ทำให้คนเป็นทุกข์ คือ ความคิดแบบตีตนไปก่อนไข้ (กังวล) ความคิดแบบเข้าข้างตนเอง หรือ เข้าข้างคนอื่นสุด ๆ ความคิดลบหรือบวกสุด ๆ กล่าวได้ว่า “ความคิดแบบสุดโต่ง” ไม่ว่าด้านบวกหรือลบคือต้นเหตุของความทุกข์ ซึ่งทางแก้คือต้องรู้ทันความคิดความรู้สึก นอกจากนี้พบว่าแนวทางจัดการกับความทุกข์ทำได้ง่ายๆ เพียงมีพื้นที่หรือมีงานอดิเรก ที่สามารถปลีกตัวไปแสวงหาความสงบหรือความสุขตามที่ตัวเองต้องการ และการมีผู้รับฟังในยามที่เราเป็นทุกข์ ซึ่งญาติมิตรทุกคนสามารถเป็นผู้รับฟังความทุกข์ของเราได้อยู่แล้ว” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว