ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมปราบวัณโรคประกาศผลทุนสนับสนุนโครงการเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการดูแลและควบคุมวัณโรค (TB Grant 2018) มุ่งสร้างแรงพลังขยายผลในชุมชนเพื่อหยุดยั้งวัณโรคตามนโยบาย WHO

3 ทีม ดังนี้ 1.โครงการ “การพัฒนาระบบไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาวัณโรค” โดยโรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

2.โครงการ “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจายเชื้อ” โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี

3.โครงการ “เพิ่มประสิทธิภาพระบบการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” โดยกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กทม.

วัณโรค ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2559 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อยุติวัณโรค โดยมีเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรค ให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรโลกภายในปีพ.ศ. 2578 กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานในการลดอุบัติการณ์วัณโรคไปสู่เป้าหมายยุติวัณโรค องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรคสูง ได้แก่ 1) มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคสูง 2) มีจำนวนและอัตราวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง และ 3) มีจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง

สำหรับสถานการณ์วัณโรคในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจะมีอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยที่อัตรา 156 ต่อแสนประชากร ซึ่งสามารถประมาณการได้ว่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่และกลับเป็นซ้ำ จำนวน 108,000 รายต่อปี โดยมีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยประมาณ 11,000 ราย และมีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา 3,900 คนต่อปี นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนรักษา และรายงานมายังสำนักวัณโรคสูงถึง 46,000 ราย ซึ่งอาจจะเกิดจาดผู้ป่วยยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาหรือได้รับการวินิจฉัย และรักษาแล้วที่โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแต่ไม่ได้รายงานมาที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค เมื่อพิจารณาถึงอัตราความสำเร็จของการรักษาก็ยังไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 90 แต่ประเทศไทยมีอัตราความสำเร็จการรักษาประมาณร้อยละ 80-85 เท่านั้น

ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา

ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา นายกกรรมการบริหาร สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า “สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 ได้ดำเนินการสนับสนุน และร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันรักษา ควบคุม และกำจัดวัณโรคมาอย่างต่อเนื่อง และปีที่ผ่านมา สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ได้ริเริ่ม “โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค” หรือ End TB Thailand โดยมีทุนสนับสนุนโครงการเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการดูแลและควบคุมวัณโรค ปี 2561 (TB Grant 2018) ให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐ และเอกชน ศูนย์บริการสาธารณสุข ประชาสังคม และอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้โรงพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตื่นตัวและคิดหานวัตกรรมเพื่อการควบคุมวัณโรคที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซาโนฟี่-อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด”

สำหรับ “ทุนสนับสนุนโครงการเพื่อพัฒนานวัตกรรมสำหรับการดูแลและควบคุมวัณโรค ปี 2561” (TB Grant 2018) สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ ได้ดำเนินงานร่วมกับกรรมการที่ปรึกษาโครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรคและผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญทางการควบคุมและดูแลวัณโรคในประเทศไทย เป็นผู้ตัดสินและคัดเลือกทีมผู้ชนะได้รับทุนสนับสนุนรวม 3 ทีม ซึ่งในปีนี้ผลการพิจารณา และตัดสิน คือ

อันดับที่ 1) โครงการ “การพัฒนาระบบไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาวัณโรค” โดยโรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

และอันดับที่ 2 ร่วมกัน 2 ทีม ได้แก่ โครงการ “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจายเชื้อ” โดยโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี และโครงการ “เพิ่มประสิทธิภาพระบบการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” โดยกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย กทม.

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์

นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์วัณโรคในกรุงเทพมหานครและความท้าทาย ซึ่งมีหลายประเด็น คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ และกลับเป็นซ้ำในกรุงเทพฯ ประมาณ 12,886 รายต่อปี ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาแล้ว 12,035 ราย ยังคงมีผู้ป่วยวัณโรคอีกไม่ถึง 1,000 ราย ที่อาจจะยังไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษา และแพร่เชื้อในสังคม หรือได้รับการวินิจฉัยแล้วแต่ยังไม่ได้รายงานมายังกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้คนที่อพยพเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งอาจจะเป็นแรงงานต่างจังหวัด หรือแรงงานข้ามชาติก็ได้ ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี พ.ศ.2560 มีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรคในระบบ 853 ราย และเพิ่มเป็น 1,123 ราย ในปี พ.ศ. 2561 แต่จากการคาดการณ์ทางระบาดวิทยาเชื่อว่าจะมีแรงงานข้ามชาติที่ป่วยเป็นวัณโรคในกรุงเทพมหานครประมาณ 2,300 รายต่อปี ดังนั้น จึงเป็นความท้าทายอย่างมากของหน่วยงานที่ทำงานด้านสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร จะได้ช่วยกันค้นหา และรักษาแรงงานข้ามชาติที่ป่วยด้วยวัณโรคโดยเร็ว เป็นการตัดวงจรการแพร่เชื้อทำให้สังคมไทยปลอดจากวัณโรคได้มากขึ้น

ปัญหาสำคัญของการดำเนินงานควบคุมวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คือ ความแออัดของประชากร การคมนาคมที่ยังไม่สะดวก การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนสุขอนามัยของกลุ่มเปราะบาง เช่น คนจรจัด นอกจากนี้ความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลภาครัฐ ทำให้ไม่สามารถจัดบริการที่ตอบโจทย์ของผู้ป่วยวัณโรคที่มาใช้บริการได้อย่างดีมาก ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยวัณโรคทุกรายมีการกินยาภายใต้ระบบพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นระบบเดียวที่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยกินยาครบถ้วนและถูกต้อง อันจะส่งผลให้อัตราการรักษาสำเร็จสูงเกือบร้อยละ 100 แต่ในวันนี้อัตราการรักษาสำเร็จในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยเฉลี่ยยังไม่ถึงร้อยละ 80 การที่มีอัตราการรักษาสำเร็จยังไม่สูงมากทำให้มีผู้ป่วยวัณโรคส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรดื้อยาหลายขนาน หรือรุนแรง หรือรุนแรงมาก ซึ่งทำให้การรักษาซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีกต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เพื่อจัดการกับปัญหานี้

โรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

สำหรับโรงพยาบาลสิรินธร สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ผู้ได้รับทุนสนับสนุนผู้ชนะอันดับ 1 TB Grant 2018 โดย พญ.ชุลีกร โสอุดร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสิรินธร กล่าวว่า โครงการ “การพัฒนาระบบไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาวัณโรค” โรงพยาบาลสิรินธรได้นำระบบไลน์เข้ามาใช้ในการทำงานร่วมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างแพทย์ ทีมพยาบาล ผู้ป่วย และคนใกล้ชิดผู้ป่วย สามารถติดต่อสอบถามข้อสงสัยเรื่องอาการของโรคหรือผลข้างเคียงจากยา ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้ดียิ่งขึ้น โดยใช้ LINE ID: LINE TB Clinic Sirindhorn Hospital ซึ่งเป็นการดำเนินงานคลินิกวัณโรคแบบ One Stop Service โดยมีการประเมินและติดตามผลในปี 2561 มีผู้ป่วยจำนวน 246 ราย เป็นผู้ป่วยวัณโรคที่ใช้ระบบไลน์ร้อยละ 69 และผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ใช้ระบบไลน์ร้อยละ 31 ผลปรากฏว่าในกลุ่มที่ใช้ระบบไลน์ มีประสิทธิผลในการรักษาสำเร็จสูงถึงร้อยละ 94.1 ส่วนในกลุ่มที่ไม่ใช้ระบบไลน์ ได้ประสิทธิผลในการรักษาสำเร็จเพียงร้อยละ 76.7 โรงพยาบาลฯ ได้เห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาระบบไลน์ในการใช้เพื่อดูแล รักษาผู้ป่วยวัณโรค จึงได้พัฒนาต่อยอด โดยใช้เพื่อการแจ้งเตือนการกินยาวัณโรคอัตโนมัติ รวมถึงแจ้งเตือนวันนัดพบแพทย์ล่วงหน้าก่อนวันนัดหมาย ทำให้ผู้ป่วยทานยาต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ขาดยาและไม่ขาดนัด ผู้ป่วยและครอบครัวพึงพอใจและมั่นใจในการรักษาที่มีระบบไลน์เข้ามาร่วมกับการรักษาแบบทั่วไป

โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี

ในขณะที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ได้รับทุนสนับสนุนสำหรับผู้ชนะอันดับ 2 ได้เล่าถึงโครงการ “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจายเชื้อ” ว่าเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน เช่น การค้นหา รวมถึงการรักษายังไม่ครอบคลุม และยังมีสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เพิ่มขึ้นด้วย โรงพยาบาลฯ จึงเห็นความสำคัญในการพัฒนาการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยวัณโรค ด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกโดยใช้รถเอ็กซเรย์เคลื่อนที่ลงไปในชุมชน ในอำเภอสองพี่น้อง เมื่อปี 2561 ทำให้ค้นหาและตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 พบผู้ป่วย จำนวน 111 ราย และเพิ่มขึ้นเป็น 125 รายในปี 2561 และยังมีอัตราความสำเร็จจากการรักษาสูงขึ้นเป็นร้อยละ 92.44 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 85.15 โดยที่มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 2.52 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดอัตราเสียชีวิตควรต่ำกว่าร้อยละ 5 โรงพยาบาลฯ มีการจัดตั้งคณะทำงาน TB ในการดูแลเฝ้าติดตามผลผู้ป่วยทุกขั้นตอน โดยได้นำ “สองพี่น้องโมเดล” เข้ามาปรับใช้ในชุมชน รวมถึงตำบลต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี กว่า 100 แห่ง เพื่อช่วยค้นหาและลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน ลดอัตราการตาย ลดอัตราการขาดยาได้ และเพิ่มอัตราความสำเร็จ

กลุ่มงานวัณโรคกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย

ปิดท้ายด้วยโครงการ “เพิ่มประสิทธิภาพระบบการส่งต่อผู้ป่วยวัณโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร” ของกลุ่มงานวัณโรคกองควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สำนักอนามัย ที่สามารถคว้าทุนสนับสนุนสำหรับผู้ชนะอันดับ 2 (ร่วม) ได้มีการจัดตั้งศูนย์กลางการส่งต่อ (TB Referral Center) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งต่อและโอนออกจากสถานพยาบาลหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ประสานระหว่างสถานพยาบาลต้นทาง ทำการส่งต่อ/โอนออกผู้ป่วย ให้ถึงสถานพยาบาลปลายทาง เพื่อให้ผู้ป่วยวัณโรคได้รับการรักษาวัณโรคได้อย่างต่อเนื่อง ลดอัตราการขาดยาระหว่างการรักษา ลดอัตราการโอนออกโดยไม่ทราบผลการรักษา ซึ่งจะส่งผลให้ผลการรักษาวัณโรคของภาพรวมกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการป้องกันการเกิดวัณโรคดื้อยาหลายขนาน อีกทั้งเป็นการลดภาระงานของผู้ประสานงานวัณโรคของสถานพยาบาลต่างๆที่ใช้ในการประสานงาน ซึ่งผลงานที่ผ่านมาผู้ป่วยวัณโรคไปถึงสถานพยาบาลปลายทางได้ร้อยละ 92.21 สถานพยาบาลที่ประสงค์จะส่งต่อ/โอนออกผู้ป่วยสามารถประสานได้ที่ Call Center โทร. 02-860-8208

โครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค หรือ End TB Thailand จะคงดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นการกระตุ้นและสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพาบาลภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับวัณโรคให้มีการคิดค้นนวัตกรรม เพื่อป้องกันและรักษาวัณโรคซึ่งอาจจะเป็นเครื่องมือ น้ำยาทดสอบการป่วย ตลอดจนระบบบริการ ทั้งนี้ การสนับสนุนนี้ตั้งอยู่บนหลักการ หรือแนวทางว่าเมื่อคิด ฝัน ที่จะทำอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับ วัณโรค ต้องได้ทำ