ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2562 เกิดอุบัติเหตุ 567 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้บาดเจ็บ 598 คน รวม 4 วัน (11 – 14 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 2,232 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 237 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,322 คน สั่งการจังหวัดเน้นการเรียกตรวจของด่านชุมชน กวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงให้จังหวัดบูรณาการเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรเพื่อรองรับการเดินทางกลับของประชาชน

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 567 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้บาดเจ็บ 598 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 42.86 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.40 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.31 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 67.55 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.74 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.39 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 29.10 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 22.22

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,039 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,337 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,072,767 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 238,111 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 65,349 ราย ไม่มีใบขับขี่ 58,950 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (21 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา (4 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย และร้อยเอ็ด (20 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (11 – 14 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 2,232 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 237 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,322 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 12 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ตราด นครนายก ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พังงา แม่ฮ่องสอน สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุโขทัย อ่างทอง และอำนาจเจริญ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (81 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และอุดรธานี (11 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (82 คน)

พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงสี่วันที่ผ่านมา พบว่า ถนนสายรองและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอำเภอมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง เนื่องจากหลายพื้นที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ และเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้อัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง มีสาเหตุหลักจากการขับรถเร็ว และ ดื่มแล้วขับ ประกอบกับในวันนี้หลายพื้นที่ยังคงเล่นน้ำสงกรานต์ ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเน้นการเรียกตรวจของด่านชุมชน เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะดื่มแล้วขับและขับรถเร็วในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นพิเศษ รวมถึงดูแลความปลอดภัยในบริเวณสถานที่เล่นน้ำสงกรานต์และบริเวณจัดงานรื่นเริง และดูแลการเปิด - ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง โดยกวดขันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนบางส่วนยังคงท่องเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ ในขณะที่บางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ จึงขอให้จังหวัดบูรณาการเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้เกิดความคล่องตัว รวมถึงจัดเตรียมจุดบริการ จุดพักรถ และระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอในการรองรับการเดินทางกลับของประชาชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่เตรียมความพร้อมในการเดินทางผ่านทุกช่องทางสื่อ ทั้งการเตรียมร่างกาย ตรวจสอบสภาพรถ และวางแผนการใช้เส้นทางอย่างเหมาะสม เพื่อให้การเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 15 – 16 เมษายน 2562 พื้นที่ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อนในลักษณะฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ทำให้สภาพถนนเปียกลื่นและทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดี จึงขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนน เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัครเข้มข้นการดูแลเส้นทางที่มีจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว เพื่อป้องกันการหลับใน ท้ายนี้ ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เพื่อความปลอดภัย ควรหยุดพักรถทุก 1 – 2 ชั่วโมง รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

ด้านนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุลบัติเหตุ (สคอ.)เปิดเผยว่า ในการเดินทางกลับของประชาชน ควรเพิ่มความระวังอาการหลับใน เพราะหลายคนเล่นน้ำ ดื่มฉลองต่อเนื่องมาหลายวัน ซึ่งทำให้เกิดความเหนื่อยล้าสะสม ทำให้เกิดความอ่อนเพลีย หากพักผ่อนน้อยเมื่อขับรถอาจเกิดอาการหลับในได้ จากข้อมูลสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากการหลับในช่วง 11-14 เมษายน 2562 ทั่วประเทศจำนวน 12 ครั้ง หรือร้อยละ 5.61 สังเกตได้จาก 1.หาวบ่อยๆ ใจลอยไม่ค่อยมีสมาธิขณะขับรถ เริ่มจำไม่ค่อยได้ว่าขับผ่านอะไรมา หนังตาปรือ ขับรถส่ายไปส่ายมา ซึ่งสามารถแก้ง่วงได้โดยเคี้ยวหมากฝรั่ง กินผลไม้รสเปรี้ยวช่วยกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัว สดชื่น 2.น้ำเย็นลูบหน้าและประคบไว้ที่คอ 3.ชวนคุย เปิดเพลง หรือแวะปั๊ม ล้างหน้าล้างตา ดื่มกาแฟ หรือถ้ารู้ว่าขับต่อไหว ให้พักและหลับสักครูา ค่อยไปต่อ จะเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น