ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2562 เกิดอุบัติเหตุ 472 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 54 ราย ผู้บาดเจ็บ 494 คน รวม 5 วัน (11 – 15 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 2,702 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 297 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,807 คน กำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงานบนเส้นทางสายหลัก ทางเลี่ยง และทางลัดที่เชื่อมสู่ถนนสายหลัก เพิ่มการเรียกตรวจรถเพื่อชะลอความเร็วรถและประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เน้นดูแลจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน พร้อมกำชับทุกจังหวัดประสานการปฏิบัติและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน ฝากเตือนผู้ขับขี่ “เร็ว เมา โทร ง่วง...ไม่ขับ” เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2562 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 472 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 54 ราย ผู้บาดเจ็บ 494 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 40.68 ขับรถเร็ว ร้อยละ 27.54 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.85 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 67.16 บนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.92 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.23 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 32.42 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.36

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,040 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,308 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 1,092,735 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 235,838 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 64,926 ราย ไม่มีใบขับขี่ 57,452 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (26 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ พิษณุโลก มหาสารคาม อุบลราชธานี (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (27 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (11 – 15 เม.ย. 62) เกิดอุบัติเหตุ 2,702 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 297 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,807 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 8 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (104 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี (14 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (104 คน)

นพ.สุขุม กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวันหยุดสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีปริมาณรถหนาแน่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงาน ประจำจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรองที่ประชาชนใช้เป็นทางลัดและทางเลี่ยงเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นถนนทางตรง วิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง จึงสามารถใช้ความเร็วได้สูง โดยให้เพิ่มความถี่ในการการเรียกตรวจ โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะ รวมถึงกวดขันพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ทั้งการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง สำหรับการเตรียมความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ได้กำชับให้หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จัดทีมแพทย์ พยาบาล ทีมกู้ชีพกู้ภัยให้พร้อมปฏิบัติงาน เข้าถึง และส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งจัดเตรียมระบบสื่อสารแจ้งเหตุ ทีมบุคลากร และอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุทันที กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง กล่าวกำชับให้ทุกจังหวัดประสานการปฏิบัติและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภทและให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ให้จังหวัดร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครอำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง ทั้งทางร่วม ทางแยก และจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เน้นการเรียกตรวจเพื่อประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถตู้โดยสาร จะช่วยป้องกันการหลับในที่เป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ส่วนจังหวัดที่ยังมีการเล่นน้ำสงกรานต์ได้กำชับให้ดูแลความปลอดภัยของประชาชน และป้องกันอุบัติภัยจากการเล่นน้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุทางถนน

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 5 วันที่ผ่านมา พบว่า อุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 59.85 โดยส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 66.54 ซึ่งมีสาเหตุจากการขับรถเร็วกว่าร้อยละ 43.49 ซึ่งวันนี้คาดว่าเส้นทางสายหลักจะมีปริมาณรถหนาแน่นตลอดทั้งวัน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุชนท้ายและง่วงหลับใน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้กำชับจังหวัดให้เพิ่มความถี่ในการจัดตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก เพื่อชะลอความเร็วรถและป้องกันการแซงในระยะกระชั้นชิด รวมถึงเข้มข้นการดูแลจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งทางโค้ง ทางลาดชันที่มักเกิดอุบัติเหตุเบรกแตก และเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาวที่มักเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน ท้ายนี้ ฝากเตือนประชาชนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจที่ปฏิบัติหน้าที่สร้างความปลอดภัยบนเส้นทางสายต่างๆ ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด “เร็ว เมา โทร ง่วง.. ไม่ขับ”

ด้านนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.)เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนเริ่มเดินทางกลับจำนวนมาก ระวังความเหนื่อยล้า วูบหลับใน แต่ก็ยังมีในหลายพื้นที่ยังเล่นน้ำอยู่ จึงขอเตือนการดื่มแล้วขับ สำหรับผู้ที่ขับขี่รถที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ มีอัตราโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 10,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พักใบอนุญาต 6 เดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาต ส่วนเมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิกถอนใบอนุญาต