ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ระบบสาธารณสุขมูลฐานของไทยนั้น ได้รับการยกย่องในระดับโลกว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดำเนินการในรูปแบบของอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่มีมีกว่า 30 ปี และประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งแต่ละที่ก็มีความโดดเด่น และเป็นแหล่งเรียนรู้ของประเทศต่างๆ ปัจจุบันยังได้มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อก้าวสู่การเป็น "อสม. 4.0" ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ด้วย

ทั้งนี้ อสม.และ รพ.สต. ต่างก็มีปัญหาและความต้องการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจึงมีความหลากหลายตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ที่ รพ.สต.นาดอกไม้ อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่นำเทคโนโลยีไปใช้กับงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้อย่างโดดเด่นจนได้รับรางวัลดีเด่นระดับจังหวัดตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มนำแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มาใช้งานเลยทีเดียว

ณัฐฌานนท์ ปรมัทธนากูล

"ณัฐฌานนท์ ปรมัทธนากูล" นักวิชาการสาธารณสุข รพ.สต.นาดอกไม้ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ ว่าหมอเดี่ยว กล่าวถึงบริบทในพื้นที่ว่า รพ.สต.นาดอกไม้ มีประชากรในการดูแลประมาณ 7,500 คน มี อสม. 108 คน ปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งคือความเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุทางถนน รองลงมาคือโรคเรื้อรังเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ต้องรับยาจาก รพ.สต.เป็นประจำอีก 12 คน

หมอเดี่ยวกล่าวอีกว่า ได้ยินชื่อแอปฯ นี้ตั้งแต่ปี 2560 แต่ตอนแรกยังไม่ได้คิดอะไร ต่อมาจึงลองเสิร์จข้อมูลในกูเกิ้ลและคิดว่าน่าจะเอามาลองใช้กับงานควบคุมโรคที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ จึงเริ่มนำมาใช้ในเดือน ก.ค. 2561 โดยใช้วิธีง่ายๆให้ อสม. เขียนรายงานการเฝ้าระวังโรคด้วยดินสอแล้วถ่ายรูปส่งเข้าระบบแทนการเขียนใส่กระดาษแล้วนำมาส่งที่ รพ.สต. เมื่อเข้าเดือนใหม่ก็ใช้กระดาษแผ่นเดิมเพียงแต่ลบข้อมูลเดิมออกแล้วเขียนใหม่แทน

นอกจากรายงานการเฝ้าระวังโรคแล้วยังให้ อสม.ส่งรายงานประจำเดือนผ่านแอปฯดังกล่าวอีกด้วย ผลที่ตามมาคือสามารถประหยัดกระดาษลงได้อย่างชัดเจน จากเดิมที่ อสม.แต่ละคนต้องใช้กระดาษคนละ 2 แผ่น/เดือน คือแบบรายงานประจำเดือนและแบบรายงานการเฝ้าระวังโรค ทั้งปีจะใช้ประมาณ 2,500-2,600 แผ่น ปัจจุบันก็ใช้แค่คนละ 2 แผ่น/ปี หรือเหลือ 214 แผ่น สามารถประหยัดกระดาษได้ประมาณ 4 รีม

“เราสามารถลดการใช้ทรัพยากร ลดภาวะโรคร้อน บางคนอาจมองว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ แต่ถ้านำไปใช้ทุก รพ.สต. คงจะดีกว่านี้" ณัฐฌานนท์ กล่าว

ผลลัพธ์ประการต่อมาคือการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากสามารถทำได้อย่างง่ายดาย การลงพื้นที่สำรวจลูกน้ำยุงลาย คว่ำภาชนะเพาะพันธุ์ยุง พ่นหมอกควัน ฯลฯ เพื่อติดตามการควบคุมโรคจนหมดระยะวงจรของโรคก็ใช้แอปฯนี้ในการถ่ายรูปและชี้พิกัด จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเอกสารสอบสวนโรคเพื่อจัดส่งอำเภอและจังหวัดต่อไป

นอกจากนี้ในส่วนของการสรุปข้อมูลรายงายประจำเดือนของ อสม.ก็ทำได้สะดวกขึ้น อสม.สะดวกในการส่งรายงาน เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ก็สะดวกในการรวบรวมข้อมูล ไม่ต้องมานั่งบวกว่าเยี่ยมบ้านกี่หลัง ผู้สูงอายุกี่คน สามารถโหลดดูได้เลยว่า อสม. 108 คนนี้ไปเยี่ยมผู้สูงอายุได้กี่คน ผู้พิการกี่คน ง่ายต่อการสรุปรายงานเข้าโปรแกรม HOSxP เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลจากการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ไม่เกิดเคสโรคระบาดขึ้นในพื้นที่ เมื่อไม่มีโรคระบาด สิ่งที่ตามมาคือเงินกองทุนสุขภาพตำบลในส่วนของงบฉุกเฉินที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตั้งไว้เพื่อเฝ้าระวังโรคก็ไม่ถูกใช้ สามารถเก็บไว้ใช้ในกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอื่นๆได้อีกนั่นเอง

หมอเดี่ยวกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่นำมาแอปฯอสม.ออนไลน์มาใช้กับงานควบคุมโรคแล้ว เจ้าหน้าที่คนอื่นๆก็เห็นถึงประโยชน์และนำไปใช้กับงานของตัวเอง เช่น การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็มีการใช้แอปฯในการติดตามคนไข้ ติดตามยา ดูการรับประทานยา หรือในส่วนของการดูแลผู้ป่วยติดเตียง Care Giver จะส่งต่อรูปและข้อมูลการปฏิบัติงานในแต่ละวันว่าทำอะไรบ้าง ถือเป็น 1 ในเครื่องมือติดตามการปฏิบัติงานให้เป็นไปตาม Care Plan ที่วางไว้ ซึ่งผลการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในปี 2561 มีผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 24 คน สามารถพัฒนาระดับการช่วยเหลือตนเองได้ 12 คนหรือ 50% เลยทีเดียว หรือในกรณีที่มีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ อสม.ก็สามารถรายงานให้ รพ.สต.ทราบและดูแลได้ทันท่วงที

"นอกจากใช้ดูแลผู้ป่วยติดเตียงแล้วเรายังใช้ติดตามเฝ้าระวังผู้ป่วยเส้นโลหิตในสมองแตก ตามระบบที่วางไว้เราจะให้ความรู้แก่ชาวบ้านในหลายๆช่องทาง ทั้งทางไลน์ แผ่นพับ ทางหอกระจายข่าว และให้ อสม.ลงพื้นที่ให้ความรู้ ดังนั้นเมื่อชาวบ้านเริ่มมีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เขาก็จะทราบว่าตัวเองเป็นอะไรแล้วรีบไปแจ้ง อสม. ถ้า อสม.มั่นใจก็แจ้งโรงพยาบาลหรือ 1669 ได้เลย แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ส่งรูปมาให้เจ้าหน้าที่เพื่อประสานกันก่อน แล้วค่อยจัดส่งคนไข้เข้าระบบ Fast track ทำให้ตอนนี้ตำบลของเราเป็นอันดับ 1 ของอำเภอในการค้นพบและส่งผู้ป่วยเส้นเลือดในสมองแตกได้เร็วที่สุด" ณัฐฌานนท์ กล่าว

แน่นอนว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ กระบวนการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีของ อสม. ซึ่งประกอบด้วยคนหลากหลายวัยและมีพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีแตกต่างกันถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ณัฐฌานนท์เล่าว่า ในช่วงแรกที่นำแอปฯอสม.ออนไลน์มาใช้งานนั้น เจ้าหน้าที่ทุกคนใน รพ.สต. ต้องเรียนรู้และสอนกันเองก่อน แม้กระทั่งแม่บ้านและเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลก็สามารถใช้งานได้ เมื่อใช้งานกันเป็นแล้วจึงค่อยขยายไปสอน อสม. โดยใช้วิธีการชักจูงให้มาทดลองเล่นดูเหมือนเฟสบุ๊กหรือไลน์ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงข้อดีที่สามารถเก็บรูปไว้ได้นานกว่าไลน์ สามารถดึงกลับมาใช้ได้เป็นต้น มีการนัดประชุมมาฝึกสอนกันที่ รพ.สต. แล้วถ้าใครไม่เข้าใจตรงจุดไหนก็สามารถมาที่ รพ.สต.และสอบถามเจ้าหน้าที่ได้ทุกคนแม้กระทั่งแม่บ้าน

"แต่ปัญหาในการใช้งานมีอยู่แล้ว อย่างสมาร์ทโฟน บางคนก็มี บางคนไม่มี บางคนมีแล้วไม่มีอินเทอร์เน็ต เราเลยตั้งระบบกันว่าประธาน อสม. จะมีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าใครไม่มีก็ให้ประธานส่งให้หรือถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ไปใช้อินเทอร์เน็ตประชารัฐของหมู่บ้านหรือใช้ของ รพ.สต.ก็ได้ แต่แต่ตอนนี้มีสมาร์ทโฟนหมดแล้ว ใครยังใช้ไม่เป็นก็ให้ลูกหลานส่งให้ เวลาลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเราก็จะสอนให้ส่งข้อมูลกันตรงนั้นเลย ช่วงแรกอาจจะไม่คุ้นเคยแต่ถ้าได้ใช้บ่อยๆปัญหานี้ก็หมดไป และโชคดีอีกอย่างที่ อสม.ของเรามีความกระตือรือร้นที่จะลองใช้สิ่งใหม่ๆ เดือนแรกที่ให้ทำกัน อสม.สามารถส่งข้อมูลทางแอปฯอสม.ออนไลน์ได้เกือบ 100% และในปัจจุบันนี้ทุกคนสามารถส่งข้อมูลผ่านแอปฯได้ 100% เต็ม" หมอเดี่ยว กล่าว

ณัฐฌานนท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า Feedback ที่ได้รับจาก อสม. หลังจากนำแอปฯอสม.ออนไลน์มาใช้งานถือว่าดีมาก เสียงสะท้อนจากอสม.คือช่วยประหยัดเวลาและค่าน้ำมันในการเดินทาง เช่น การนัดประชุมก็สะดวกรวดเร็ว เวลาให้ตามเด็กให้มาฉีดวัคซีน เมื่อก่อนต้องโทรตาม อสม.ให้มารับเอกสารรายชื่อเพื่อไปตามคนไข้ แต่ตอนนี้ยกมือถือขึ้นมาเห็นเลยว่าลูกใครยังไม่มีฉีดวัคซีน หรือสมมุติเจอสุนัขตายแล้วสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็ถ่ายรูปส่งมาให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ดูได้เลย ถ้าเป็นเมื่อก่อนเผลอๆต้องเอาซากหมากลับมา รพ.สต. หรือบางครั้งอยู่ตามไร่นา ตัดอ้อยอยู่แล้วมีดบาดก็สามารถส่งรูปให้เจ้าหน้าที่เพื่อขอรับคำแนะนำได้ทันที กล่าวโดยสรุปก็คือตั้งแต่นำเทคโนโลยีมาใช้ก็ช่วยสร้างความรวดเร็วให้กับ อสม. และเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ได้มากขึ้นนั่นเอง.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง