ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"...นโยบายห้ามขับเกิน 80 นะจ๊ะ!!!..."

กระทรวงออกมาให้เหตุผลว่าเป็นการรักษาความปลอดภัยต่อผู้ป่วย บุคลากร และประชาชน ดังนั้นหากจะส่งต่อได้ หมอต้องแน่ใจว่าคนไข้มีอาการคงที่และปลอดภัยเพียงพอที่จะขนส่งไป รพ.อื่นได้

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายคือ จะทำให้หมอและบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องหน้างานหนักใจมากขึ้นเวลาเจอคนไข้วิกฤติรุนแรงที่อาจเกินความสามารถ หรือในสถานการณ์ขาดทรัพยากรต่างๆ ที่จะช่วยชีวิตอย่างเพียงพอ ส่งต่อก็เสี่ยงต่อการเสียชีวิตระหว่างเดินทาง หากไม่ส่งต่อก็อาจเสียชีวิต ณ ที่เกิดเหตุหรือที่ รพ.เล็กแล้วส่งผลต่อปัญหาการฟ้องร้องตามมาในระยะยาว

ปกติแล้วระบบจัดการลำเลียง และส่งต่อฉุกเฉิน มี 2 แบบหลักคือ

หนึ่ง ส่งไปส่งสถานพยาบาลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือรีบนำคนไข้ไปหาหมอ (Anglo-American model)

สอง ลำเลียงส่งโดยใช้รถพยาบาลที่มีอุปกรณ์ทันสมัยเปรียบเหมือนมินิ รพ. หรือนำหมอไปหาคนไข้ (Franco-German model)

การออกนโยบายนั้นอาจต้องพิจารณาให้ดีว่า ออกนโยบายไปแล้วเหมาะกับสถานการณ์จริง โครงสร้างพื้นฐานและกลไกทำงานในระบบที่มีอยู่จริงหรือไม่?

เมืองไทย...รถพยาบาลก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่เพียบพร้อม อาจมีปัญหาทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ ในขณะที่ รพ.รัฐ ก็มีปัญหาขาดทั้งบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือ จนพี่ตูนต้องเข้ามาช่วยเป็นระยะๆ

คิดกี่ตลบก็ดูเหมือนว่าโจทย์นี้ท้าทายผู้กำหนดนโยบายยิ่งนัก

นโยบายที่ดี ไม่ควรประกาศออกมาแล้วอาจบีบคั้นให้การทำงานหน้างานยากลำบากมากขึ้น แค่นี้คนหน้างานก็อ้วกแล้ว

จะรักษาความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุและความสูญเสียระหว่างส่งต่อ ถ้าจะประกาศเช่นนี้ อาจต้องควบคู่ไปกับการลงทุนทรัพยากรในการดูแลรักษาเพียงพอด้วย พร้อมกับระบบช่วยเหลือให้คำปรึกษาเคสรุนแรงแบบแชร์ความรับผิดชอบ เพื่อปกป้องน้องๆ ตัวเล็กๆ หน้างานให้พ้นปากเหยี่ยวปากกาที่หากินกับการฟ้องร้องหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการดูแลรักษาภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดครับ

ไม่งั้นผู้บริหารกระทรวงก็อาจเห็นแต่โพสที่คนหน้างานบอกมาว่ารับทราบนโยบาย และเหน็บท่านว่า หากท่านเป็นคนไข้ฉุกเฉิน เค้าจะดูแลท่านตามนโยบายที่ท่านประกาศคือ ขับช้าๆ ไม่ทำหัตถการใดๆ...ถามจริงเหอะ ยามหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนั้น ท่านเอาไหม?

ด้วยความปรารถนาดีต่อทุกคน

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง
ธีระ วรธนารัตน์. การพัฒนาเครือข่ายบริการและการส่งต่อผู้ป่วย. จรัลสนิทวงศ์การพิมพ์ กรุงเทพฯ พ.ศ.2557. ดาวน์โหลดได้ที่ http://www.ebooks.in.th/31413/