ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับทุกภาคส่วน รณรงค์กำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยในปี 2567 ด้วยแนวคิด “เริ่มต้นที่ตัวเรา สู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์” โดยเน้นเฝ้าระวังโรค หากพบผู้ป่วยใช้มาตรการ 1-3-7 แจ้งเตือนภายใน 1 วัน ระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน ควบคุมแหล่งแพร่เชื้อภายใน 7 วัน และติดตามอาการผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องครบทุกราย พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันป้องกันตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมผู้แทนสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้แทน Asia Pacific Leader Malaria Alliance (APLMA) กว่า 10 ประเทศ ร่วมเปิดกิจกรรมรณรงค์ World Malaria day: Zero Malaria Starts with me “เริ่มต้นที่ตัวเรา สู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์” เนื่องในวันมาลาเรียโลก 25 เมษายน เพื่อความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วนในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดจากประเทศไทยในปี 2567 พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรรับรอง 25 อำเภอ ที่สามารถหยุดการแพร่เชื้อไข้มาลาเรียมากกว่า 2 ปี โดยมีคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข จากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เครือข่ายภาคประชาสังคม ร่วมงานกว่า 200 คน

นพ.ปรีชา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ปรับนโยบายจากการ “ควบคุมโรค” เป็นการ “กำจัดโรค” ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลก เพื่อให้ไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรียในปี 2567 โดยในปี 2561 พบผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียลดลงเหลือ 6,607 ราย จาก 150,000 ราย ในปี 2553 หรือลดลงประมาณร้อยละ 95 พบพื้นที่แหล่งแพร่เชื้อลดลงเหลือเพียง 161 อำเภอ โดยในจำนวนนี้มี 25 อำเภอที่สามารถหยุดการแพร่เชื้อโรคมาลาเรียมากกว่า 2 ปี นับว่าประสบความสำเร็จในการควบคุมโรค ดังนั้นขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน โดยเฉพาะประชาชนมีส่วนร่วมดำเนินการตามแนวคิด “เริ่มต้นที่ตัวเรา สู่เป้ามาลาเรียเป็นศูนย์” เพื่อหยุดการแพร่โรค ก้าวสู่จังหวัดปลอดมาลาเรียต่อไป

มาตรการดำเนินการตามลักษณะของพื้นที่ ประกอบด้วย 1.อำเภอที่มีการแพร่เชื้อ ให้เร่งรัดค้นหาผู้ติดเชื้อ กำหนดพื้นที่เสี่ยง ประชากรกลุ่มเสี่ยง ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 2 ครั้ง/ปี ขยายการให้บริการตรวจรักษาเชิงรับ ควบคุมยุงพาหะให้ครอบคลุมทุกหลังคาเรือน 2.อำเภอหยุดการแพร่เชื้อ 1-2 ปี ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงอย่างน้อย 1 ครั้ง/ปี ขยายการให้บริการตรวจรักษาเชิงรับครอบคลุมทุกหลังคาเรือน 3.อำเภอปลอดโรคไข้มาลาเรีย ให้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรค หากพบผู้ป่วยต้องทำมาตรการ 1-3-7 แจ้งเตือนโรคภายใน 1 วัน สอบสวนโรคเพื่อระบุแหล่งแพร่เชื้อภายใน 3 วัน ควบคุมแหล่งแพร่เชื้อภายใน 7 วัน ติดตามการกินยาและผลการรักษาให้ครบทุกราย และรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันป้องกันตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย

โรคไข้มาลาเรีย มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้มีแหล่งเพาะพันธุ์บริเวณป่าเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำธรรมชาติ เริ่มออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง จึงขอแนะนำประชาชนที่อาศัยหรือเดินทางไปพักค้างคืนในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ป้องกันไม่ให้ยุงกัด เช่น นอนห้องที่มีมุ้งลวดหรือกางมุ้ง มุ้งคลุมเปล การใช้ยาทากันยุง เป็นต้น ส่วนอาการของโรค หลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ประมาณ 10-14 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก รู้สึกสบาย แล้วกลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง ให้สงสัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย ขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อเจาะเลือดตรวจหาไข้มาลาเรีย และแจ้งประวัติการไปในพื้นที่เสี่ยงด้วย เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว หากล่าช้าอาจมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตล้มเหลว ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ ในวันนี้ได้รับเกียรติจากผู้แทน 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) และ Asia Pacific Leader Malaria Alliance (APLMA) ร่วมกล่าวแสดงความยินดีกับความก้าวหน้าของประเทศไทย และพร้อมให้การสนับสนุนการกำจัดโรคไข้มาลาเรียทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก