ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 มอบกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน ตั้งเป้าหมาย คนไทยร้อยละ 20 หรือ 15 ล้านคนมีความรู้ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เพิ่มอัตราการรอดชีวิตภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ศูนย์อำนวยการใหญ่ จิตอาสาพระราชทาน 904 ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับแพทยสภา ราชวิทยาลัยฯ ที่เกี่ยวข้อง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโครงการ "ฝึกอบรมการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน" พัฒนาหลักสูตรมาตรฐานสำหรับประชาชน จัดทำแนวทางการปฏิบัติ และสื่อการสอนที่ประชาชนเข้าใจง่ายผ่านทางสื่อโซเชียล ตั้งเป้าหมายคนไทยร้อยละ 20 หรือ 15 ล้านคนมีความรู้ช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และคนไทยมากกว่า 3.5 ล้านคน หรือ 1 ใน 20 สามารถปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานและใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ได้

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลในประเทศไทย มีระบบการแพทย์ที่เป็นเลิศ ขณะที่นอกโรงพยาบาล การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary resuscitation: CPR) และการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) โดยประชาชน ทำได้น้อยมากและไม่ถูกต้อง ซึ่งเครื่องฟื้นคืน คลื่นไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ เป็นอุปกรณ์ปฐมพยาบาลตามกฎหมาย ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ใช้ได้ ทำให้สถานการณ์การรอดชีวิตภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) นอกโรงพยาบาลของประเทศไทยอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก ประมาณร้อยละ 2 ขณะที่ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 48 และในประเทศส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 จึงจำเป็นต้องเพิ่มการฝึกอบรมประชาชน บุคลากรที่ฝึกสอน อุปกรณ์การสอน เช่น หุ่นฝึกการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และเพิ่มจำนวนและการกระจายเครื่อง AED ที่มีอยู่ในประเทศไทยให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนผ่านการฝึก CPR ให้ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

“เชื่อว่า ผู้ที่ผ่านการอบรมมีความรู้การช่วยชีวิต ฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน จะมีความรู้ไปตลอดชีวิต และยังแนะนำคนอื่นๆ ได้ ซึ่งจะทำให้การช่วยชีวิตนอกโรงพยาบาลมีอัตราเพิ่มขึ้น” นพ.สุขุม กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการ เสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานประสานความร่วมมือ จัดทำแผนการดำเนินงานฝึกอบรม จัดทำคู่มือ สื่อการสอนมาตรฐาน CPR และการใช้ AED ที่มีความเหมาะสมสำหรับใช้อบรมประชาชน จัดทำระบบทะเบียนผู้ผ่านการอบรม CPR ซึ่งเป็นพลังเครือข่ายจิตอาสาทำความดีประมาณ 15 ล้านคน และมีช่องทางเช่น แอปพลิชันในการสื่อสาร และระบบข้อมูลปริมาณและการกระจายของเครื่อง AED โดยหน่วยงานต่าง ๆ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์การฝึกอบรม ให้การอบรมบุคลากรในหน่วยงาน และอบรมประชาชน ให้เกิดระบบที่ยั่งยืน พึ่งตนเองได้ เช่น ในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ บุคลากรในโรงพยาบาลทุกคน