ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สเตท ลองบีช สหรัฐอเมริกา ดูงานบริการสุขภาพจิตในชุมชน จ.นครราชสีมา ชมทำได้ดีกลมกลืนกับบริบทพื้นที่ โดยเฉพาะที่ รพ.สต.คลองไผ่ ผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในครอบครัว มีอาชีพได้ค่าแรงเท่าคนปกติ ชุมชนร่วมดูแลเสมือนเป็นญาติ สามารถลดปัญหาขาดนัดขาดยาจากร้อยละ 62 เหลือไม่ถึงร้อยละ 2 หายดีแล้ว 8 คน สถิติฆ่าตัวตายเป็นศูนย์ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในชุมชนที่แคลิฟอร์เนีย

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่าคณะอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาคลินิก จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สเตท ลองบีช (University California State, Long Beach) ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 23 คน นำโดยศาสตราจารย์ ดร.พอล รัตนศิริวงศ์ (Professor Dr. Paul Ratanasiriwong) เดินทางมาศึกษาดูงานระบบบริการสุขภาพจิตของ จ.นครราชสีมาในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่การรักษาพยาบาลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในระดับเชี่ยวชาญที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ การฟื้นฟูผู้ป่วยในชุมชนที่วัดห้วยพรม อ.วังน้ำเขียว และที่ รพ.สต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว การดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียนเทศบาล 1 (บูรพาวิทยากร) รวมทั้งการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติดโดยใช้สติบำบัดที่ รพ.พิมาย และการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุที่ รพ.สต.หนองขาม อ.พิมาย

นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวว่า คณะดูงานได้กล่าวชื่นชมว่า ประเทศไทยสามารถจัดการดูแลสุขภาพจิตได้อย่างเข้มแข็งและเป็นระบบ โดยเฉพาะในระดับชุมชน หมู่บ้าน ซึ่งเป็นจุดท้าทายสำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยหายขาดหรือมีอาการอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบว่าเราทำได้ดี โดยเฉพาะที่ รพ.สต.คลองไผ่ ซึ่งมีผู้ป่วยจิตเวช 114 คน สามารถจัดการได้สอดคล้องกับบริบท วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้ป่วยซึ่งมีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม ผู้ป่วยมีงานทำ อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่น ส่วนชุมชนมีส่วนร่วมดูแลเสมือนเป็นญาติ มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดี ถือว่าเป็นความโดดเด่น และใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่ประชาชนมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน โดยจะนำรูปแบบของไทยไปประยุกต์ใช้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ชุมชนในแคลิฟอร์เนียในรูปแบบของคลับหรือเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นต้น

ด้านนางพัชรากร พันสาง ผู้อำนวยการ รพ.สต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ตำบลคลองไผ่มี 10 หมู่บ้าน 10 ชุมชน ประชากรจำนวน 9,785 คน มีทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม มีผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมด 126 คน หายดีแล้ว 8 คน และเสียชีวิตจากเหตุชราภาพ 4 คน ขณะนี้เหลือผู้ป่วย 114 คนกระจายทุกหมู่บ้าน หลักๆ จะป่วยโรคจิตเภท 47 คน ซึมเศร้า 44 คน และป่วยจากการใช้ยาเสพติด 10 คน

นางพัชรากล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนจะทำทั้งเชิงรับและเชิงรุก บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในชุมชนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข มีเครือข่ายร่วมดูแล 53 คน และใช้การสื่อสารทางไลน์ (LINE) มาช่วยในการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่กับเครือข่าย จัดทีมเยี่ยมบ้านซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. ผู้นำชุมชน อบต.คลองไผ่ เทศบาล ต.คลองไผ่ อย่างต่อเนื่อง

พบว่าได้ผลดี สามารถบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขาดนัด ขาดยาซึ่งเป็นปัญหาหลักของผู้ป่วยจิตเวชซึ่งร้อยละ 80 จะไปที่ รพ.ชุมชน อีกร้อยละ 20 ไปที่ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ผลการดำเนินงานในปี2561 มีผู้ป่วยขาดยาเพียงร้อยละ 1.58 ลดจากช่วงปี 2558 ที่พบสูงถึงร้อยละ 62 ส่วนคนในหมู่บ้านที่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่มีปัญหาฆ่าตัวตายติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งในช่วงปี 2557-2558 เคยพบปีละ 4 คน

สำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย ขณะนี้ผู้ป่วยร้อยละ 60 ออกไปทำงานนอกบ้าน ได้รับค่าแรงเท่าคนปกติอีกร้อยละ 40 อาการดีแต่ญาติยังต้องการให้อยู่ที่บ้าน จึงได้จัดกิจกรรมฟื้นฟูโดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ชีววิถีที่อยู่ในตำบล จัดอบรมการแปรรูปอาหารที่มีในท้องถิ่น เช่นทำกล้วยฉาบ กล้วยทอด มะละกอแก้ว เพาะเห็ด เพื่อให้เลือกเป็นอาชีพตามที่ชอบและถนัด และส่งเสริมการเลี้ยงแพะเนื้อตามที่ผู้ป่วยต้องการ เริ่มในปลายปี 2561 จำนวน 2 ครอบครัว ได้รับการสนับสนุนแม่พันธุ์จากโรงไฟฟ้าชลภาวัฒนา ผลพบว่าช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยจะประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยกลุ่มนี้ในช่วงปลายปีนี้ แผนในปีหน้าจะหนุนการเลี้ยงไก่อีก 6 ครอบครัว ขณะเดียวกันได้เพิ่มการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ในชุมชนด้วย เพื่อนำเข้าสู่ระบบรักษาให้เร็ว ซึ่งจะมีโอกาสหายขาดได้สูง ปีนี้พบแล้ว 6 คน เป็นผู้ป่วยจิตเภทจากเสพยาบ้า