ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่นิ่งนอนใจ! สธ.ย้ำมาตรการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์กรณีความรุนแรงในโรงพยาบาล เผยสถิติย้อนหลัง 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2555-2562 พบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 51 เหตุการณ์ แบ่งออกเป็นทะเลาะวิวาท 18 เหตุการณ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 19 เหตุการณ์ นอกนั้นก็ทำลายทรัพย์สิน ก่อความไม่สงบ

จากกรณีการนำเสนอข่าวความรุนแรงในโรงพยาบาลที่พบมากขึ้นในช่วงปี 2562 โดยเฉพาะการทะเลาะวิวาทกันบริเวณห้องฉุกเฉิน ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมสุด คือ กรณีศาลจังหวัดนครพนม สั่งจำคุก 3 วัยรุ่นที่ก่อเหตุรุมกระทืบ ไล่ฟันคู่อริกลาง รพ.นาแก จ.นครพนม คนละ 12 ปี แต่ลดเหลือ 8 ปี แม้จะมีบทลงโทษ แต่ดูเหมือนว่า การทะเลาะวิวาท หรือแม้แต่บุคลากรสถานพยาบาลถูกทำร้ายก็ยังพบเรื่อยๆ อย่างล่าสุดกรณีพยาบาลโรงพยาบาลปลวกแดง จ.ระยอง ถูกคนไข้ต่อย สาเหตุไม่ยอมบอกรอคิว

ประเด็นดังกล่าวจึงเกิดคำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการในการป้องกัน หรือดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

เมื่อเร็วๆนี้ นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในเรื่องของการทะเลาะวิวาท ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น อย่างกรณีพยาบาลที่ถูกทำร้ายในโรงพยาบาลปลวกแดง ขณะนี้ได้ดำเนินคดีแล้ว ส่วนการเยียวยาจิตใจพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็มีมาตรการดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอยากให้มองว่า โรงพยาบาลเป็นสถานที่ให้บริการช่วยเหลือคน โดยเฉพาะวิกฤตชีวิต ยิ่งห้องฉุกเฉินด้วย ไม่ควรมีการทะเลาะวิวาท ไม่ว่าจะเป็นการวิวาทกันมาก่อนหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่เมื่อมาถึงสถานพยาบาลต้องละเว้น เพราะเป็นสถานที่ช่วยชีวิตคน ในหลักสากลแล้วสถานพยาบาลต้องปลอดความรุนแรงทั้งหมด

นพ.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ช่วงที่ผ่านมาก็พบว่ามีความรุนแรงในโรงพยาบาลบ่อยขึ้นจริง อย่างสถิติย้อนหลัง 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2555-2562 พบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 51 เหตุการณ์ แบ่งออกเป็นทะเลาะวิวาท 18 เหตุการณ์ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ 19 เหตุการณ์ นอกนั้นก็ทำลายทรัพย์สิน ก่อความไม่สงบ และเหตุการณ์อื่นๆ

“ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางท่านรัฐมนตรีและท่าน ปลัด สธ.ได้สั่งการว่า ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ก่อเหตุรุนแรงในโรงพยาบาลทุกกรณีให้ถึงที่สุด ตั้งแต่ต้นปี 2562 - สงกรานต์ที่ผ่านมา มีการก่อเหตุทะเลาะวิวาท รุนแรงในโรงพยาบาล 4 เหตุการณ์ คือ รพ.ห้วยแถลง จ.นครราชสีมา รพ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.แก้งค้อ จ.ชัยภูมิ และ รพ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งจะมีการดำเนินการทางกฎหมายทุกคดีแน่นอน เพื่อให้เป็นแบบอย่างว่า อย่าไปทำความรุนแรงในโรงพยาบาลอีก” นพ.ประพนธ์ กล่าว

รองปลัดสธ. กล่าวอีกว่า สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีนโยบายชัดเจน ที่สอดคล้องกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก คือ ไม่ยอมรับความรุนแรง หากเกิดความรุนแรงขึ้น ต้องบังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด และประสานงานสื่อทุกประเภทให้ช่วยเสนอผลลัพธ์การลงโทษจากพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องรับโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี ในส่วนของแนวทางในแต่ละโรงพยาบาล เบื้องต้นต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณล่อแหลม เช่น ห้องฉุกเฉิน ฯลฯ และในช่วงเทศกาลต่างๆ หรือประเพณีต่างๆ จะมีการประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ประจำการบริเวณสุ่มเสี่ยงเพิ่มเติม อย่างห้องฉุกเฉิน เป็นต้น

เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดถึงพบความรุนแรงในโรงพยาบาลบ่อยขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นพ.ประพนธ์ กล่าวว อาจเพราะปัจจุบันสภาพจิตใจคนเปลี่ยนไป ความอดทนของคนก็ต่ำลง แต่ละคนไม่เหมือนกัน ได้มีการกำชับให้เจ้าหน้าที่พยายามอธิบายคนไข้ถึงการรอคิวรับบริการในห้องฉุกเฉิน ซึ่งทุกอย่างมีหลักเกณฑ์การให้บริการ และอยากให้เข้าใจด้วยว่าปริมาณคนไข้ที่มารับบริการในโรงพยาบาลขณะนี้มีมากกว่าเจ้าหน้าที่ ย่อมเป็นธรรมดาที่อาจจะรอคิวนาน ขณะที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งก็พยายามในการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการรอคิว ไม่ต้องเครียดมาก เช่น มีทีวี มีน้ำเย็น มีหนังสือพิมพ์ หนังสือให้อ่าน ฯลฯ

เมื่อถามว่าจากข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะทำให้บุคลากรหวาดหวั่นและไม่อยากปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นพ.ประพนธ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า บุคลากรส่วนใหญ่อาจไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น เพราะจริงๆ ความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นหลายแห่ง หรือถี่จนถึงขนาดจะยอมเลิกหรือเปลี่ยนวิชาชีพ อีกทั้ง สธ.ก็มีมาตรการในการช่วยเหลือดูแลอยู่ และยังมีการเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ล้อตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545