ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหรัฐฯ ออกกฎหมายใหม่ให้สิทธิเจ้าหน้าที่สาธารณสุขปฏิเสธที่จะให้การรักษา หากขัดต่ออุดมการณ์ทางศาสนาของตัวเอง ระบุมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพทางศาสนา (religious freedom) ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลทรัมป์ ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์สหรัฐ (Department of Health and Human Services) ออกกฎหมายใหม่โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเสรีภาพทางศาสนา (religious freedom) ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถปฏิเสธที่จะให้การรักษาที่ขัดต่อมโนธรรมและ/หรือละเมิดต่ออุดมการณ์สูงสุดทางศาสนาของตนได้อย่างถูกต้อง โดยจะมีผลทันทีในวันที่ 22 กรกฎาคม 2019

Roger Severino

Roger Severino ผู้อำนวยการกรมสิทธิพลเมือง จากกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์สหรัฐ หนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายดังกล่าวอธิบายถึงความสำคัญของกฎหมายดังกล่าว

“อย่าลืมว่าเสรีภาพทางศาสนาเป็นเสรีภาพอันดับต้น ๆ ที่สำคัญ นั่นหมายความว่าสิทธิพลเมือง จำเป็นที่จะต้องผลักดันและเคารพด้วยเช่นกัน

“กฎหมายดังกล่าวเราต้องการให้เกิดความมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะไม่ถูกรังแกหรือข่มเหงในสถานที่ทำงาน เมื่อพวกเขาปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดหรือขัดต่อมโนธรรมของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการพรากชีวิตของมนุษย์ด้วย การคุ้มครองความรู้สึกผิดชอบชั่วดีและอิสรภาพทางศาสนา ไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริมความหลากหลายในการดูแลสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นกฎหมายอีกด้วย” [1]

อย่างไรก็ตาม ได้มีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยออกมาโต้แย้งทันที เมื่อกฎหมายดังกล่าวอนุญาตและให้การคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ทางอ้อมที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่อาจขัดแย้งกับอุดมการณ์ทางศาสนาของตน กล่าวคือตั้งแต่เจ้าหน้าที่ห้องธุรการไปจนถึงแพทย์ผ่าตัด สามารถปฏิเสธให้การรักษาหรือปฏิบัติตามหน้าที่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าผู้ป่วยเหล่านั้นจะเผชิญอยู่กับความเป็นความตายมากแค่ไหนก็ตาม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา เขตซานต้า คลาร่า เค้าท์ตี้ (Santa Clara County) ตั้งอยู่ในทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เตรียมเข้าหารือร้องขอให้ผู้พิพากษาประจำเขต ทำการพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวใหม่อีกครั้ง พร้อมชี้ให้เห็นว่า หากกฎหมายดังกล่าวเริ่มใช้งานจริงเมื่อไร นั่นจะหมายความจะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากต้องเสียชีวิต

กล่าวคือ เป็นข้อกฎหมายที่นำมาสู่การเกิดความเสียหายอย่างไม่สามารถเยียวยาได้ (irreparable harm)

จากการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2017 ระบุว่าเขตซานต้า คลาร่า เค้าท์ตี้มีประชากรอยู่อาศัยทั้งหมด 2 ล้านคน แต่มีสถานพยาบาลเพียง 3 แห่ง โดยประกอบไปด้วย ศูนย์บริบาลผู้บาดเจ็บระดับหนึ่ง คลินิก และร้านขายยา

ด้าน James Wiliams ที่ปรึกษาประจำเขตดังกล่าวชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ

“กระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์สหรัฐไม่มีการอธิบายใด ๆ เกี่ยวกฎหมายดังกล่าวในเชิงปฏิบัติ หากมีการนำมาใช้จริง”

นอกเหนือจากนั้น เขายังชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า กฎหมายนี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับโรงพยาบาลเสียเอง เมื่อมีเจ้าหน้า พยาบาลหรือแพทย์คนใดปฏิเสธที่ทำการรักษา โรงพยาบาลก็จำเป็นที่จะต้องหาคนมาเพิ่ม ทั้งในอีกมุมหนึ่ง นั่นหมายความว่า ผู้ป่วยเองก็ต้องวิ่งวุ่นหาโรงพยาบาลใหม่ที่จะยอมรักษาตัวเองหรือคนที่อยู่ใต้การปกครอง โดยเฉพาะหญิงที่ต้องการทำแท้งหรือผู้ป่วยข้ามเพศ (transgender patients)

อย่างไรก็ดี สำหรับเขต ซานต้า คลาร่า เค้าท์ตี้นี้แล้ว พวกเขาเองได้มีข้อกฎหมายประจำเขตตนเองเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอยู่แล้วแต่มีความยืดหยุ่นที่มากกว่า

“เรามีความยืดหยุ่นสำหรับกรณีนี้ เรามีคณะกรรมการประจำเขตที่ให้การสนับสนุนสิทธิของผู้ป่วย ถึงอย่างนั้น ทุกเขต และทุกระบบสาธารณสุขจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว” Jeff Smith ผู้อำนวยระดับสูงของเขต ซานต้า คลาร่า เค้าท์ตี้กล่าว

แม้จะยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว รวมถึงทิศทางในการไปปฏิบัติใช้ ถึงอย่างนั้น กฎหมายดังกล่าวก็กำลังจะเริ่มมีผลดำเนินการทันที และนั่นหมายความว่า หลาย ๆ คนต่อจากนี้จะต้องเผชิญกับความเสียหายอย่างไม่สามารถเยียวยาได้

ที่มา:

1.'Patients Will Die': One County's Challenge To Trump's 'Conscience Rights' Rule : www.npr.org

2.New Trump Rule Protects Health Care Workers Who Refuse Care For Religious Reasons : www.npr.org