ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งเดินหน้าใช้กัญชาเมดิคัลเกรด ผ่านช่องทางพิเศษผู้ป่วย 3 กลุ่ม ครอบคลุมกลุ่มโรคมะเร็งพบบ่อยในไทย

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการวิจัยสารสกัดกัญชาเกี่ยวกับโรคมะเร็งว่า หลังจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรดออกมาก็จะส่งมอบให้แก่กรมการแพทย์ ซึ่งจะกระจายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำไปรักษาตามเงื่อนไขที่กำหนด ในส่วนของสถาบันมะเร็งแห่งชาติก็เช่นกัน โดยในส่วนของสถาบันฯ จะมีการวิจัยจะมีการศึกษาทั้งในระดับเซลล์มะเร็ง สัตว์ทดลองและนำไปสู่กระบวนการวิจัยระดับคลินิก ซึ่งการวิจัยระดับคลินิกหรือในคน ส่วนนี้จะใช้เวลานาน ดังนั้นจึงมีอีกช่องทางหนึ่งที่ใช้ควบคู่กัน คือ หลังจากผ่านการวิจัยระดับเซลล์และสัตว์ทดลองก็จะนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาผ่านช่องทางพิเศษ ที่เรียกว่า Special Access Scheme หรือ SAS

นพ.วีรวุฒิ กล่าวอีกว่า การศึกษาวิจัยหรือการติดตามการใช้สารสกัดกัญชาผ่านช่องทางพิเศษ จะใช้ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทราบแล้วว่าได้ผลชัดเจน คือ ภาวะคลื่นไส้ อาเจียนจากการใช้ยาเคมีบำบัดที่ดื้อต่อยาแผนปัจจุบัน กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ คือ กลุ่มมะเร็งระยะสุดท้าย และกลุ่มที่อาจมีประโยชน์ในอนาคต คือ โรคมะเร็งชนิดต่างๆ กลุ่มนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่มีภาวะคลื่นไส้อาเจียน คนไข้กลุ่มนี้ค้อนข้างน้อย เพราะปัจจุบันยาที่ใช้ในกลุ่มคลื่นไส้ดีขึ้นมาก จะมีที่ไม่ตอบสนองก็น้อยมาก ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เลย ดังนั้นอาจจะไปเน้นกลุ่มมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 2 โดยหลังจากทราบปริมาณการใช้สารสกัดกัญชาในหนูทดลองแล้วว่า ต้องใช้สัดส่วน THC และ CBD เท่าไหร่ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จะนำมาเปรียบเทียบกับการใช้ในคน ทำให้ทราบว่าการวิจัยในกลุ่มที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ควรใช้น้ำมันกัญชาสัดส่วนขนาดไหน

เมื่อถามว่าการศึกษาวิจัยการใช้สารสกัดกัญชาของสถาบันมะเร็งแห่งชาติจะมุ่งเน้นโรคมะเร็งชนิดไหน นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า จะใช้ในกลุ่มที่พบบ่อยในประเทศไทย ทั้งมะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีเกณฑ์คัดเลือกผู้ป่วยมะเร็งเข้าร่วมโครงการอย่างไร นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า จะเปิดให้ขึ้นทะเบียน ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกรมการแพทย์ว่า อาจจะเปิดขึ้นทะเบียนพร้อมกับทางสถาบันประสาทวิทยาหรือไม่

เมื่อถามถึงงบประมาณในการวิจัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่นิ่ง เพราะมีทั้งการวิจัยระดับเซลล์ทดลอง และในสัตว์ทดลองเบื้องต้นประมาณ 7-8 ล้านบาท ซึ่งต้องทำแยกย่อยหลายเซลล์ หลายความเข้มข้น ส่วนในเรื่องที่จะใช้ใน SAS ก็ต้องดูผลวิจัยในขั้นที่ 1-2 จะนำไปสู่การวิจัย SAS ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ต้องวางแผนอีกครั้ง