ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"How to fix Thai public health system: Inside-out"

ผมเคยเปรยกับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งเมื่อสักสองสามปีก่อนว่า ผมคิดจะเขียนบทความหัวข้อนี้ เพราะในช่วงเวลานั้นระบบสาธารณสุขไทยมีความวุ่นวายมาก แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย

หลังจากที่เปรยไปไม่นาน ผมประเมินอีกครั้งและไม่เห็นความจำเป็นต้องไปวิเคราะห์ และแลกเปลี่ยนอะไรในหัวข้อนี้ เนื่องจากไม่เกิดประโยชน์ และไม่มีทางเปลี่ยนธงที่ปักไว้ตั้งแต่ต้น ตัวบทกฎหมาย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการชงแล้วตบ จนสามารถเป็นตัวล็อคคอ ล็อคสายตา และล็อคความคิด ไม่ให้สามารถไปทำอะไรนอกกรอบที่กำหนด

แต่พอมาถึงปัจจุบัน สังคมไทยเริ่มเห็นเหตุการณ์ที่เกิดจากผลกระทบจากนโยบายด้านสุขภาพจากหน่วยงานรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายคนสงสัยว่า เฮ้ย นี่กำลังทำอะไรกัน?

จะขอยกให้ดู 2 ตัวอย่างที่กำลังฮอตฮิต

หนึ่ง "นโยบายกัญชา": เริ่มด้วยการประกาศปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ กระบวนการเป็นไปอย่างรีบเร่ง ชงแล้วตบกันอย่างเมามันส์ ตั้งแต่จัดการออกกฎหมายปลดล็อค พร้อมไปกับกระบวนการป่าวประกาศให้สังคมเชื่อว่าสรรพคุณหลากหลาย แถมปลูกขายได้เงิน ประหยัดงบค่ายาต่างชาติ

ว่าด้วยเรื่องสรรพคุณหลากหลายนั้น คุยกันเหมือนคนละภาษากับแพทย์แผนปัจจุบัน หมอๆ ส่วนใหญ่งงเป็นไก่ตาแตก ร่ำเรียนมาว่าเราจะยึดจริยธรรมทางการแพทย์เป็นหลักในการประกอบวิชาชีพ จะแนะนำให้คนไข้รับการรักษาชนิดใด การรักษานั้นต้องได้รับการพิสูจน์อย่างเป็นขั้นตอน ถ้วนถี่ ทำซ้ำจนแน่ใจ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ แต่ปรากฏว่าที่ป่าวประกาศกันไปทั้งโดยชุดขาวและไม่ขาวนั้น กลายเป็นคนละเรื่อง เอางานระดับหลอดทดลอง งานวิจัยในสัตว์ และอื่นๆ ที่ยังไม่ครบถ้วนกระบวนความ ไปป่าวประกาศทุกวี่ทุกวัน ทำให้คนหลงเชื่อ งมงาย มีความหวัง เกิดกิเลสต่างๆ นานา ทั้งๆ ที่มีข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ที่จำกัดไม่กี่โรค แถมยังไม่สามารถนำมาทดแทนการรักษามาตรฐานได้

แถมหน่วยงานนโยบาย ก็ออกหน้าเอง ด้วยการตีตราสรรพคุณ ภายใต้สโลแกนสรรพคุณของกัญชา ทั้งแบบมีประโยชน์ น่าจะได้ประโยชน์ และอาจจะมีประโยชน์ โดยหารู้ไม่ว่าการประชาสัมพันธ์นั้นส่งผลอย่างมากตั้งแต่สโลแกนประโยคแรก และคนอ่านส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจหรอกว่า"น่าจะ"กับ"อาจจะ"นั้นมันหมายความว่าอย่างไร เหมารวมกันไปหมดว่ารักษาได้เยอะแยะไปหมด

ไม่น่าแปลกใจ หากกระแสกัญชาจึงติดและลามไปทั่วประเทศ เป็นโอกาสให้เหล่าสาวกยาเสพติดและกลุ่มธุรกิจมืดได้ยึดหัวหาด ขายของได้อย่างมากมายเกินกว่าที่รัฐจะตามไปควบคุมได้ทัน

เราจึงเห็นข่าวทั้งผู้ป่วย และผู้ที่ไม่ป่วย ถูกหลอกงมงาย ใช้แล้วเกิดปัญหาทางสุขภาพ หามส่งโรงพยาบาลกันเป็นทิวแถว

เรื่องที่สอง "สาธารณสุขแจกฟรี! ยาป้องกันไข้เลือดออก โฮมีโอพาธีย์ ป้องกันได้ 89.9%" เรื่องนี้หากใครตามข่าวจากสื่อมวลชน จะเห็นได้ว่า หน่วยงานนโยบายเป็นคนออกมาให้ข่าวเอง ชวนให้ประชาชนมาอมยา จะยาเม็ดหรือยาน้ำ ที่ทำจากสมุนไพรตามความเชื่อของการแพทย์ทางเลือก โดยอ้างอิงถึงงานวิจัยที่ทำมา ซึ่งโดยแท้จริงแล้วมิใช่รูปแบบที่เหมาะสมหรือมาตรฐานในการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยา

คำแนะนำดังกล่าวน่าจะเกิดผลกระทบตามมาในวงกว้าง ทั้งในเรื่องสุขภาพของประชาชน และอัตราการดูแลเอาใจใส่ตนเองตามคำแนะนำมาตรฐานเพื่อควบคุมป้องกันไข้เลือดออก

ในเมืองนอก อย่างอเมริกา เพิ่งมีกรณีการฟ้องร้องห้างขายปลีกชื่อดัง เพราะขายผลิตภัณฑ์โฮมีโอพาธีย์ในส่วนเดียวกับยา

เค้าชี้แจงชัดเจนว่า โฮมีโอพาธีย์ไม่ได้รับการพิสูจน์ตามหลักทางการแพทย์มาตรฐานตะวันตกและไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา

แต่เมืองไทยเราพิลึก สาธารณสุขกลับเป็นผู้การันตีสรรพคุณโฮมีโอพาธีย์ว่าสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 89.9%

ทั้งสองเรื่องที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น บ่งถึงปัญหาภายในที่มีอยู่ในหน่วยงานระดับนโยบาย ซึ่งควรได้รับการพิจารณาแก้ไขโดยเร็ว ได้แก่

1. ปัญหาสุขภาพทางกาย: โรคอุบัติใหม่ ชื่อว่า "Light ear syndrome" เห็นได้จากใครชงอะไรมา หากใกล้ชิดหรือเป็นกากี่นั้ง ก็เชื่อและนำไปปฏิบัติ ผลักเป็นนโยบาย

2. ปัญหาสุขภาพทางใจ: โรคอุบัติซ้ำ ที่เรารู้จักกันดีว่า "กิเลสครอบงำ" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิเลสทางเศรษฐกิจ เขาว่ากันว่าทำไอ้นี่แล้วขายทำเงินได้ก็รีบตะครุบ เขาว่ากันว่าทำไอ้นี่แล้วประหยัดงบยาต่างประเทศก็รีบโผเข้าหา โดยมิได้ประเมินเลยว่าโอกาสสำเร็จนั้นมีมากน้อยเพียงใด หรือเป็นเรื่องกิเลสระดับบุคคล ที่เบื้องบนต้องการ ก็เข้าอีหรอบ ทุกอย่างจินนี่ทำได้เสมอ ขาดคนขาดผู้เชี่ยวชาญ ก็ตีตราปั้ม ผลิตได้ภายในเวลาวันสองวัน

3. ปัญหาสุขภาพทางสังคม: โรคอุบัติซ้ำซาก ที่เห็นกันจนชาชิน เรียกว่า "กากี่นั้ง" ดังนั้นจึงเห็นวงในแทบทุกวง ก็มีแต่กลุ่มคนที่ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ข้อมูลที่ได้รับป้อนเข้าเพื่อพิจารณาจึงเป็นไปตามที่ต้องการ ใครขวางถือว่าเป็นฝั่งตรงข้าม กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายจึงขาดความรอบคอบ และเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบต่อสังคมวงกว้างอย่างที่เห็น

4. ปัญหาสุขภาพทางจิตปัญญา: โรคอุบัติใหม่ "Over-degree" เป็นภาวะที่หน่วยงานเต็มไปด้วยดีกรี แต่เกิดปัญหาตามมาจนทำให้เกิดภาวะ "ไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไรบ้าง" ประกอบกับความยึดมั่นถือมั่น จึงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการตัดสินใจตามที่เห็น งานวิจัยที่ชงมา หรือทำมาได้ผลตามที่เขียนมาแบบใด ก็เอาไปใช้ทันที โดยขาดการประเมินอย่างมีวิจารณญาน หรือทักษะที่เค้าเรียกว่า Critical appraisal ว่าจริงๆ แล้วมันน่าเชื่อถือหรือไม่ เหมาะในการนำไปใช้หรือยัง

สี่เรื่องนี้ แก้ยากหรือง่ายก็คงไม่สามารถตอบแทนหน่วยงานระดับนโยบายนั้นได้

ถ้าไล่ไปเป็นข้อๆ แบบกำปั้นทุบดินก็คงได้คำตอบว่า

ข้อแรกต้องหาตุ้มหูมาใส่ให้เหล่าขุนศึกระดับนโยบาย ข้อสองควรไปเข้าวัดเข้าวาโดยด่วนเพื่อระงับกิเลส ข้อสามควรทบทวนโครงสร้างกากี่นั๊ง เอาคนที่มีประโยชน์แอบแฝงและผิดปกติออกไป ส่วนข้อสุดท้ายนั้นต้องใช้เวลา โดยส่งบุคลากรระดับต่างๆ ในหน่วยงานที่กุมอำนาจเชิงนโยบาย ไปฝึกอบรม ให้รู้อย่างลุ่มลึก และมีความรอบคอบในการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ

สุดท้ายคงพอจะเดาได้ว่า คงจะยากส์...

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย