ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ย่างเข้าฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงระบาดของโรคไข้เลือดออกแล้ว อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าสถานการณ์ในปีนี้จะมีการระบาดมากกว่าปีก่อนๆ โดยจากรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2562 พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้วกว่า 26,430 ราย และผู้เสียชีวิต 41 ราย

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ มีความตั้งใจในการนำเทคโนโลยีมาช่วยบรรเทาการระบาดของไข้เลือดออกได้ จึงได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ล่าสุดของแอปฯ อสม.ออนไลน์ คือ “รายงานสำรวจลูกน้ำ ยุงลาย” เพื่อสนับสนุนให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและยับยั้งไข้เลือดออกทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการพื้นที่สำรวจซึ่งจะแสดงให้เห็นรายการของครัวเรือนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ อสม.แต่ละคน จำนวนครั้งที่ อสม.ไปสำรวจ และรายละเอียดในการสำรวจแต่ละครั้ง ทั้งหมดจะถูกเก็บบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทำงานง่ายขึ้นในการสำรวจครั้งถัดไป

ทั้งนี้ รายละเอียดผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายแต่ละครั้ง อสม.ไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยตัวเองอีก แอปฯอสม.ออนไลน์ได้ทำการจำแนกรายการต่างๆไว้เพื่อความสะดวกของผู้ปฏิบัติงานแล้ว อสม.เพียงแค่บันทึกข้อมูลตัวเลขจำนวนภาชนะชนิดต่างๆที่พบในบ้าน และจำนวนภาชนะชนิดต่างๆที่พบว่ามีลูกน้ำยุงลายอาศัยอยู่ เพียงเท่านี้รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายของ อสม. ก็เสร็จเรียบร้อย

นอกจากนี้ การสรุปผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายจะปรากฎจำนวนบ้านที่สำรวจแล้วและยังไม่สำรวจ จำนวนบ้านที่พบลูกน้ำยุงลาย จำนวนภาชนะที่สำรวจและพบลูกน้ำยุงลาย รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่พบในชุมชนและในบ้าน (HI และ CI) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้มีโอกาสพบผู้ป่วยไข้เลือดออกหากว่าค่าดัชนี CI สูงเกิน 10% ข้อมูลส่วนนี้แสดงภาพรวมของชุมชน ทำให้ อสม.ดูแลพื้นที่รับผิดชอบได้ง่ายขึ้น และเมื่อ อสม.สามารถป้องกันได้ใน 1 พื้นที่ จากชุมชนเล็กๆ หลายชุมชน รวมกันเป็นอำเภอ จังหวัด ภูมิภาค จนสามารถป้องกันได้ในระดับประเทศ

ขณะเดียวกัน รายงานผลสำรวจจะถูกส่งตรงไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำให้เห็นการระบาดในพื้นที่หนึ่งๆ ได้อย่างชัดเจนและครอบคลุม คาดว่าข้อมูลที่เกิดจากการบันทึกอย่างเป็นระบบผ่านฟีเจอร์ “รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลาย”ของแอปฯ อสม.ออนไลน์นี้ จะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุดมากขึ้น นำไปสู่ยับยั้งและป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยได้ในที่สุด

**ข้อมูลรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรค**