ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์มหิดล ฉายภาพอุดมการณ์ของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ 2475 ที่มีคุณูปการต่อแวดวงสาธารณสุข ยก รพ.อานันทมหิดลต้นแบบศิลปะสะท้อนอุดมคติความเสมอภาค

รศ.ดร.สรัญญา แก้วประเสริฐ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวในหัวข้อ “มรดกด้านสาธารณสุข” ภายในงานเสวนามรดกปฏิวัติ 2475 ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2562 โดยเชื่อมร้อยให้เห็นถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรหลังการปฏิวัติ 2475 จนนำไปสู่การเพิ่มสิทธิของประชาชนในการมีชีวิตอยู่อย่างเสมอภาคด้วยการกระจายการบริการด้านสาธารณสุข

รศ.ดร.สรัญญา กล่าวว่า คณะราษฎรมีส่วนสำคัญในการต่อยอดสาธารณสุขไทยให้ก้าวไกลเป็นอย่างมาก โดยในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม 1 พ.ศ. 2481-2487 หรือในยุคสร้างชาตินั้น เรียกได้ว่าได้สร้างมรดกสาธารณสุขเอาไว้มากมาย เริ่มตั้งแต่ปี 2475 รัฐบาลได้ประกาศให้ประเทศสยามเป็น “รัฐเวชกรรม” คือการมองว่าการแพทย์และสาธารณสุขจะสร้างคุณภาพให้กับประชากร ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของสาธารณสุขไทย

รศ.ดร.สรัญญา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงแรกเริ่มหลังปฏิวัติ 2475 การสาธารณสุขยังอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ดังนั้นในปี 2476 มีการออก พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล เพื่อกระจายความเจริญด้านสาธารณสุขไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จากนั้นในปี 2477 มีการออกกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ซึ่งรู้จักกันในชื่อของนโยบายอวดธง ที่ต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านเห็นความเจริญของประเทศไทย จึงมีการตั้งโรงสาธารณสุขขึ้นตามพื้นที่ชายแดน ขณะเดียวกันมีการออก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับที่ 1 ในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการวางระบบเพื่อจัดการโรคระบาดในชุมชน และการให้วัคซีนแก่ประชาชน

ถัดจากนั้นในปี 2479 มีการออก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับที่ 2 ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมจากฉบับแรก และออก พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งผลจากการออกกฎหมายฉบับนี้ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่าการแพทย์สมัยใหม่จะทำให้การแพทย์แผนไทยถูกกลืนไป

“ในช่วงนั้นประเทศสยามได้มีการตั้งโอสถสภา หรือสุขศาลาขึ้น โดยแบ่งเป็นสุขศาลา ชั้น 1 คือโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่มีแพทย์ประจำ และสุขศาลา ชั้น 2 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งปีละ 100 แห่งจนครบทุกตำบล จนมาถึงปี 2485 มีการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น มีโรงพยาบาลรัฐ 35 แห่ง เรื่อยมาจนถึงปี 2491 ประเทศสยามมีสุขศาลารวมกันทั้งสิ้น 563 แห่ง และในปี 2500 เรามีโรงพยาบาลประจำจังหวัดครบทุกจังหวัด คือมี 77 แห่ง ใน 72 จังหวัด” รศ.ดร.สรัญญา กล่าว

รศ.ดร.สรัญญา กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลอานันทมหิดล จ.ลพบุรี เป็นโรงพยาบาลที่ฉายภาพแนวคิดของคณะราษฎรผ่านการออกแบบต่างๆ โดยโรงพยาบาลอานันทมหิดล ตั้งขึ้นในปี 2481 จากดำริของจอมพล ป. ที่ต้องการให้ จ.ลพบุรี เป็นศูนย์กลางทางการทหาร จึงเห็นสมควรให้มีการสร้างโรงพยาบาลขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทหารและครอบครัวในการรักษา

ทั้งนี้ โรงพยาบาลอานันทมหิดลนับเป็นต้นแบบศิลปะที่สะท้อนอุดมการณ์-อุดมคติของคณะราษฎรได้อย่างชัดเจน กล่าวคือมีการออกแบบที่เรียบง่าย ใช้เส้นตรง-เส้นโค้ง ในการออกแบบ โดยจะพบว่าอาคารต่างๆ จะไม่มีจั่วหรือไม่มีลายเส้น-ลายไทยใดๆ รวมทั้งตัวอักษรที่ใช้ก็จะไม่มีหัว เหล่านี้เป็นการสะท้อนถึงหลักการสำคัญของคณะราษฎรคือความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำหรือฐานานุศักดิ์ต่างๆ

“ราวๆ ปี 2482-2486 จอมพล ป. ดำริที่จะให้มีการผลิตนักศึกษาแพทย์ให้ได้ปีละ 400 คน แต่ระหว่างการดำเนินนโยบายก็ต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่สอง สุดท้ายแล้วโรงพยาบาลอานันทมหิดลจึงผลิตแพทย์ได้เพียง 140 คน และก็ไม่ได้ผลิตแพทย์อีกเลยนับจากนั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันโรงพยาบาลอานันทมหิดลทำหน้าที่ในการดูแลรักษาอย่างเดียว” รศ.ดร.สรัญญา กล่าว

รศ.ดร.สรัญญา กล่าวว่า จริงๆ แล้วการสาธารณสุขในประเทศสยามเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ตั้งแต่หมอบรัดเล จนมาถึงรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างศิริราชพยาบาลขึ้น เรื่อยมาจนถึงเกิดกระทรวงสาธารณสุข มีการตั้งโรงเรียนผลิตแพทย์ในแต่ละหัวเมือง ฉะนั้นพัฒนาการและความเจริญทางด้านแพทย์นั้น ต้องขอขอบคุณทั้งคณะเจ้าและคณะราษฎรที่ร่วมกันสร้างขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังการเสวนา รศ.ดร.สรัญญา ได้โพสต์ใน Facebook ส่วนตัว สรุปประเด็นจากการเสวนาว่า “สุดท้ายอยากฝากทิ้งท้ายว่าทั้งคณะราษฎรและคณะเจ้าต่างมีส่วนช่วยพัฒนาและสร้างรากฐานความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้แก่สังคมไทย รวมทั้งได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากชาวต่างชาติ หมอฝรั่ง รวมไปถึงมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ (Rockefeller Foundation สหรัฐอเมริกา) ที่เข้ามาช่วยพัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ และสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์และการพยาบาลในสยาม (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6) องค์การอนามัยโลก คณะมิชชันนารี และสภากาชาด”

ขอบคุณภาพจาก Facebook/Sarunya Kaewprasert

เรื่องที่เกี่ยวข้อง