ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่อนแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการนำสารสกัดจากกัญชามารักษาเด็กและวัยรุ่น เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าจำเป็น มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย “ศ.นพ.สมศักดิ์” หวั่น สมองเด็กถูกทำลาย พบเด็ก 10% กลายเป็นผู้ติดยาเสพติด

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ลงนามในประกาศราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ 1/2562 แถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งเผยแพร่ผ่าน http://www.thaipediatrics.org เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของแถลงการณ์ตอนหนึ่ง ระบุว่า ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีมติว่ายังไม่สมควรนำกัญชาและสารสกัดจากกัญชาใดๆ มารักษาโรคในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น จนกว่าจะมีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่มากพอ ยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้สารสกัดกัญชารักษาในเด็ก รวมทั้งมีประกาศอยู่ในแนวทางการรักษาผู้ป่วย

สาเหตุที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีมติเช่นนั้น เนื่องมาจากกัญชามีส่วนประกอบที่ส่งผลเสียต่อระบบประสาทที่กำลังเจริญเติบโตในเด็กและวัยรุ่นหากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีฤทธิ์เสพติดจากผลของสาร delta9-THC

แถลงการณ์ ยังระบุถึงคุณสมบัติของกัญชาว่า แถลงการณ์ระบุว่า กัญชา (Marijuana) มีฤทธิ์เสพติด เป็นพืชที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis มีหลายสายพันธุ์ ไม่ใช่มีเฉพาะเพียงกัญชาเท่านั้น เช่น กัญชง ซึ่งเป็นพืชที่มีการนำลำต้นมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ ปริมาณของสาร Cannabinoids ที่มีอยู่ในพืชเหล่านี้ มีระดับที่แตกต่างกันตามสายพันธุ์และการเพาะปลูก สาร Cannabinoids ที่อยู่ในกัญชามีอยู่หลายชนิด เช่น delta9-tetrahydrocannabinol (delta9-THC) และ cannabidiol (CBD) เป็นต้น บางชนิดสามารถสกัดเฉพาะสารออกมาได้ หรือสังเคราะห์เองได้โดยไม่ต้องสกัดจากพืช โดยกัญชาในรูปแบบต่างๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในบางสาขาได้

ทั้งนี้ กัญชาที่มีผู้นำมาใช้เพื่อความรื่นเริงบางครั้งเกิดการเสพติดนั้น มักเป็นชนิดที่มีปริมาณของสาร delta9-THC ที่สูง โดยผู้เสพดังกล่าวอาจนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาทำให้แห้งเพื่อสูบ หรืออาจใช้ในรูปแบบน้ำมันสกัดซึ่งมีปริมาณ delta9-THC สูงกว่าปกติ

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เด็กเป็นช่วงวัยที่สมองกำลังพัฒนา หากได้รับยาที่มีผลต่อสมองอาจทำให้สมองของเด็กเสียไปตลอดชีวิต ดังนั้นในหลายประเทศจึงมีความชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้ใช้ยาพวกนี้กับเด็กที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่ในแถลงการณ์ได้เปิดช่องเอาไว้ว่าหากมีโรคบางโรคที่จำเป็นต้องใช้ก็ควรต้องมีแนวทางการรักษา เช่น ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาอะไรก่อน ได้รับยานานเท่าไรจึงจะเปลี่ยนมาใช้ยากัญชา ใช้เมื่อใด ใช้ในปริมาณเท่าไร ใช้อย่างไร เพราะปัจจุบันไม่มีข้อมูลใดๆ

“ถ้ามีข้อมูลสนับสนุนเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว และมีแนวทางการใช้ที่ชัดเจนเราก็ติดว่าสามารถทำได้ แต่ถ้ามั่ว ใช้ทา ใช้กิน ใช้ดม ใช้ทุกอย่างแบบนี้คงไม่ได้ เพราะมีอันตราย” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ที่สหรัฐอเมริกาได้ข้อสรุปว่าสารสกัดกัญชามีผลต่อการพัฒนาของสมอง การใช้ระยะยาวจะมีปัญหา โดยสถิติพบว่าเด็ก 10% ที่ใช้ยาที่เป็นสารสกัดจากกัญชาจะติดยา กล่าวคือจะมีอาการในลักษณะของคนติดยาเสพติด มีความต้องการ และเมื่อไม่ได้รับยาก็จะทุรนทุราย

“แม้ว่าเด็กอีก 90% จะไม่ติด แต่มีแน่ๆ 10% ที่จะเสพติดยา แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าใน 10% นั้นอยู่ที่ไหน หรือจะเป็นใคร” ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว