ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าปี 2562 นำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาในระบบที่ได้มาตรฐาน 219,275 คน เน้นป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ ปรับมุมมอง ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด คือ “ผู้ป่วย” พร้อมฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาดํารงชีวิตได้ตามปกติ

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการบําบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด ตามมาตรการการลดอันตรายจากยาเสพติด โดยใช้หลักสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนเน้นการดูแลสุขภาพในระบบบำบัดที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยในปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้านำผู้ติดยาเสพติด เข้ารับการบำบัด 219,275 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 136,725 คน บังคับบำบัด 56,550 คน ต้องโทษ 26,000 คน จากผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 - 18 มิถุนายน 2562 ได้นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ ในโรงพยาบาลสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง แล้วจำนวน 133,962 คน คิดเป็นร้อยละ 61.09 ในระบบสมัครใจ 61,360 คน ระบบบังคับบำบัด 58,864 คน และระบบต้องโทษ 13,738 คน

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า การบำบัดผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการโดยศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสําหรับกลุ่มผู้เสพยาเสพติด ใช้กิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาและผลกระทบจากการใช้ยาเสพติด การจัดการอารมณ์ สร้างแรงบันดาลใจ เห็นอกเห็นใจ พร้อมระบบการติดตามดูแล ช่วยเหลือหลังเข้ารับบริการให้ครอบคลุมทั่วถึง ภายใต้หลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้” ป้องกันการกลับมาเสพซ้ำ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหายาเสพติดทั้งด้านเศรษฐกิจ และอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ รวมถึงการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากการเสพยาเสพติด อาทิ เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ บี และซี

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้ความสำคัญกับสภาพจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัด ด้วยการปรับมุมมองผู้ติดยาเสพติด คือ “ผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือและความเข้าใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ชุมชน และครอบครัวในการป้องกัน เฝ้าระวัง บําบัดแก้ไข และฟื้นฟูดูแลผู้ใช้ยาเสพติด แบบองค์รวมทั้งกาย จิตใจ สังคม โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Based Treatment and Care) รวมถึงให้โอกาสผู้บำบัดสามารถกลับมาดํารงชีวิตได้ตามปกติ ทั้งด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพ