ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ 8 องค์กรหมออนามัยจับมือทำงาน ลั่นพร้อมนำพาองค์กรสู่ความเข้มแข็ง ดูแลสุขภาพประชาชน หนุนงานกระทรวงสาธารณสุข ชู Model 6 S สู่เป้าหมายควบคุมบุหรี่ในชุมชนอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรม ที เค พาเลซ หลักสี่ กทม. - ในการประชุมพัฒนาศักยภาพเครือข่ายหมออนามัย ผู้ประสานงานเสริมพลัง อสม. รพ.สต.และชุมชน ในการดำเนินงานยาสูบระดับพื้นที่ ปี 2562 โครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน เพื่อรวมพลังของหมออนามัยจากทั่วประเทศ ทุกภาคีเครือข่าย ระดมสมองกำหนดกรอบการทำงานด้านสุขภาพ เสริมพลังหนุนงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี 8 ผู้นำองค์กรได้แก่ นายธาดา วรรธนปิยกุล ประธานมูลนิธิมูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย นายมงคล เงินแจ้ง นายกสมาคมหมออนามัย นายประพัทธ์ ธรรมวงศา นายกสมาคมชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย นายปัญญา พละศักดิ์ นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ดร.ปรเมษฐ์ จินา ประธานชมรมรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฝ่ายบริหาร นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.แห่งประเทศไทย ดร.วรพจน์ พรหมสัตย์พจน์ ประธานชมรมเครือข่ายวิชาการสถาบันศึกษา และ นายปริญญา ระลึก ตัวแทนเครือข่ายวารสารหมออนามัย

เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับพื้นที่ ตามโครงการ3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ครบรอบ 3 ปี และ มีการขยายการขับเคลื่อนโครงการฯ ไปถึงเดือน ธันวาคม 2562 ณ ปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 3,207,186 คน ผู้เลิกบุหรี่ครบ 6 เดือน จำนวน 151,924 คน ซึ่งจะต้องมีการขับเคลื่อนให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ให้เลิกบุหรี่ครบ 6 เดือนให้มากที่สุด และ จากการถอดบทเรียน ในที่ประชุมได้การเสนอ Model 6 S บันได 6 ขั้น สู่เป้าหมาย การควบคุมการบริโภคยาสูบในชุมชน

Step1 S - Staff - Purpose & Policy คือ การกำหนดเป้าหมาย/นโยบายการดำเนินงาน และสร้างทีมงานการแสวงหาความร่วมมือเครือข่ายในชุมชน เช่น อสม. ผู้นำชุมชน อบต. ผู้นำศาสนา, สถาบันการศึกษา เยาวชน Gen Z, จิตอาสา, ตำรวจ, ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

Step 2 S - Study คือ ศึกษาบริบทชุมชน สำรวจข้อมูลการบริโภคยาสูบในชุมชน กลุ่มเป้าหมาย และค้นหาบุคลต้นแบบ

Step 3 S - Stimulate คือ การกระตุ้น ปลูกจิตสำนึกนักสูบหน้าใหม่ สร้างความตระหนัก ประชาสัมพันธ์ผ่าน Social และ การให้ความรู้และความรอบรู้ถึงโทษพิษภัยของบุหรี่และยาสูบความรู้ด้านกฎหมาย การคืนข้อมูลสุขภาพสู่ชุมชน

Step 4 S – Social Agreement คือ ประชาคม เพื่อขับเคลื่อนชุมชน ข้อตกลงของชุมกติกาชุมชน มาตรการทางสังคม ธรรมนูญสุขภาพ และ การบังคับใช้กฎหมาย

Step 5 S –Service & Style คือ จัดบริการเลิกบุหรี่ ในชุมชน สถานบริการ (5 A) BI MI การจัดหาเครื่องมือตรวจ-ประเมิน, การส่งต่อ, การหารูปแบบ นวัตกรรม การวิจัย ในการดำเนินงานแต่ละพื้นที่ ระบบการเฝ้าระวัง/รับเรื่องร้องเรียน

Step 6 S – Strength คือ การเสริมพลังความเข้มแข็งเครือข่าย การมอบรางวัล การเชิดชูเกียรติบัตรภาคีเครือข่าย การประเมินผล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดบทเรียน ศูนย์การเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญ ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องการกระจายอำนาจ ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ การขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีภาคีเครือข่ายหมออนามัย เข้าร่วมประชุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาและได้สร้างความร่วมมือขับเคลื่อนตามบทบาทหน้าที่ วัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กร เพื่อมุ่งหวังสนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อนผ่านกลไกเครือข่ายหมออนามัย รวมทั้งแสดงจุดยืนของเครือข่ายหมออนามัยต่อการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ และเรื่องอื่นๆ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้ให้บริการระดับปฐมภูมิ มุ่งพัฒนาให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนต่อไป