ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“299 องค์กรของผู้บริโภค” ร่วมยื่นจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ครั้งแรกของประเทศไทย ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หลัง พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคมีผลบังคับใช้ พร้อมหนุนการทำงานองค์กรของผู้บริโภคให้เข้มแข็งเข้มแข็ง พร้อมวอนอย่าเตะถ่วง เร่งให้ประกาศรับรองโดยเร็ว ชี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนทั้ง 7 ภูมิภาค ที่ได้รับมอบอำนาจจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ 299 องค์กร ได้เข้ายื่นหนังสือขอเป็นคณะผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค ประเทศไทย’ ต่อนายทะเบียนกลาง ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562

ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคฯ นับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากต่อผู้บริโภคเอง เพราะทำให้องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีกฎหมายรองรับ ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายนี้มาก่อน มีแต่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เวลาที่พูดถึงปัญหาผู้บริโภคคนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงแต่หน่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหา เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น แต่ปรากฏว่ากลับไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเปิดให้ประชาชนสามารถรวมตัวเป็นองค์กรของผู้บริโภคและร่วมจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ได้เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคด้วยกัน

อย่างไรก็ตามตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคฯ มองว่ายังมีขั้นตอนที่ล่าช้า โดยตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้กำหนดให้การยื่นจนทะเบียนจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคต้องมีบุคคลตั้งแต่จำนวน 10 คนขึ้นไปแล้ว ยังต้องมีผลการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งการจดทะเบียนให้ยื่นจดกับนายทะเบียน โดยในต่างจังหวัดให้ยื่นแจ้ง ณ ที่ว่าการจังหวัด ส่วนกรุงเทพให้ยื่นแจ้งจดต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และภายหลังการยื่นจดแจ้งแล้ว กฎหมายได้กำหนดให้พิจารณาและประกาศภายใน 60 วัน ส่วนการยื่นจัดตั้งสภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคนั้น กำหนดให้มีจำนวนองค์กรผู้บริโภคร่วมยื่นจดแจ้งไม่น้อยกว่า 150 องค์กร

“เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา พวกเรา 299 องค์กรได้ร่วมยื่นเพื่อขอจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับรองการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าต้องใช้เวลาถึง 60 วัน นั่นหมายถึงอีก 2 เดือนจึงจะมีประกาศรองรับ และหลังจากนั้นสภาองค์กรของผู้บริโภคจะรวบรวมสมาชิกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเพื่อเปิดประชุมสภาองค์กรของผู้บริโภคได้ ซึ่งหากสภาองค์กรของผู้บริโภคจัดตั้งได้เร็วเท่าไหร่ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างมาก” ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าว และว่า ทั้งนี้ขอเชิญชวนให้องค์กรผู้บริโภคที่ทำงานมาแล้ว 2 ปี ไปขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรของผู้บริโภค และขอให้หน่วยงานที่เป็นนายทะเบียนประกาศรับรองโดยเร็ว เพื่อให้สภาองค์กรของผู้บริโภคที่เราได้ยื่นของจัดตั้งสามารถเดินหน้าได้

ต่อข้อซักถามว่า การมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้น ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร นางสาวสุภาพร กล่าวว่า มีประโยชน์หลายอย่างที่จะเกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ เมื่อผู้บริโภคมีปัญหาเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่ไม่เป็นธรรมสามารถยื่นเรื่องต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เลย เพราะเป็นพื้นที่ของผู้บริโภคที่ช่วยแก้ปัญหา, มีหน้าที่ฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ รวมถึงการไกล่เกลี่ย เจรจา จากเดิมที่เมื่อเกิดปัญหาฟ้องร้องขึ้น ผู้บริโภคไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร, สภาองค์กรของผู้บริโภค คนทำงานเป็นผู้ที่ทำงานเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคโดยตรง ทั้งไม่ใช่หน่วยงานรัฐ พรรคการเมือง และธุรกิจเอกชน จึงเป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อผู้บริโภคโดยตรง, มีการติดตามเฝ้า ระวังสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย สามารถเปิดข้อมูลที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อเป็นการแจ้งเตือนผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคให้มีความแข็งทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ เหล่านี้เป็นประโยชน์โดยตรงที่ประชาชนจะได้รับ

สำหรับในส่วนของงบประมาณดำเนินการนั้น นางสาวสุภาพร กล่าวว่า ในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการจัดตั้งองค์กร จำนวน 350 ล้านบาท และหลังจากนั้นจะเข้าสู่การจัดทำแผนงบประมาณภาครัฐตามปกติเพื่อให้สภาฯ สามารถทำงานได้ ซึ่งแม้ว่าในกฎหมายจะไม่ได้ระบุว่าให้มีการจัดตั้งได้เพียงสภาฯ เดียว แต่มองว่าการรวมตัวองค์กรของผู้บริโภคเพื่อจัดตั้งสภาฯ อีกนั้นไม่น่าเกิดขึ้น เพราะจะทำให้การทำงานไม่เข้มแข็ง การมีสภาฯ เดียวจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งในต่างประเทศต่างก็มีการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคนี้ และมีมานานแล้ว ต่างจากประเทศไทยที่พึ่งเริ่มต้น และกว่าที่จะผลักดันได้ต้องใช้เวลายาวนานถึง 22 ปี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งหลังจากนี้ผู้บริโภคจะมีองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงและปกป้องสิทธิผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขึ้นทะเบียน “องค์กรผู้บริโภค” ทั่วประเทศไม่คืบ หวั่นทำจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ล่าช้า