ขึ้นทะเบียน “องค์กรของผู้บริโภค” ทั่วประเทศไม่คืบ เหตุผู้ว่าฯ ไม่ให้ความสำคัญ ขาดการสั่งการ มอบหน้าที่ ทำเจ้าหน้าที่ไม่ทราบเรื่อง หวั่นดึงจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ล่าช้า จี้ “สำนักปลัดสำนักนายกฯ” เร่งแจ้งทุกจังหวัด และจัดทำหลักเกณฑ์รับรองเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมขอเปิดรายชื่อ องค์กรผู้บริโภคที่ขอขึ้นทะเบียน เพิ่มกลไกมีภาคประชาชนร่วมตรวจสอบ สกัดผู้ประกอบการแอบอ้างร่วมจัดตั้ง
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในรายการสภากาแฟ ช่อง NEWS1 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ว่า ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 กฎหมายฉบับแรกขององค์กรผู้บริโภคในการทำงานเพื่อคุ้มครองประชาชน องค์กรผู้โภคทั่วประเทศตื่นตัวอย่างมาก ได้เข้าจดแจ้งเป็นองค์กรของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ทันที โดยในกรุงเทพฯ จดแจ้งขึ้นทะเบียนที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ส่วนต่างจังหวัดจดแจ้งขึ้นทะเบียนที่ศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ในหลายจังหวัดพบอุปสรรค เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้สั่งการเรื่องนี้ไว้ หรือมอบอำนาจให้ใครดำเนินการแทน ทำให้ไม่มีการอำนวยความสะดวก บางจังหวัดเจ้าหน้าที่มีการเรียกเอกสารเกินความจำเป็น บางจังหวัดเพียงรับยื่นเอกสารไว้ก่อนแต่ไม่ขึ้นทะเบียนเพราะยังต้องรอคำสั่งการ หรือดูรายละเอียดก่อน เป็นต้น ทำให้องค์กรของผู้บริโภคในหลายจังหวัดไม่สามารถยื่นจดแจ้งทะเบียนองค์กรของผู้บริโภคตได้ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งที่บางคนต้องเดินทางมาเป็นระยะทาง 70-80 กม. เพื่อมาที่ศาลากลางจังหวัด
กรณีที่เกิดขึ้นนี้สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานต้นเรื่องต้องเร่งแจ้งไปยังทุกจังหวัดให้ดำเนินการโดยเร็ว และหากจังหวัดใดไม่เข้าใจในรายละเอียดให้ติดต่อกับสำนักปลัดสำนักนายกฯ เพราะเรื่องนี้เป็นประโยชน์กับประชาชน พร้อมกันนี้ สำนักปลัดสำนักนายกฯ ควรออกหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้การพิจารณารับขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภคทุกจังหวัดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่บางจังหวัดยื่นจดแจ้งได้ง่าย แต่บางจังหวัดกลับยื่นจดแจ้งได้ยาก
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ในนามองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ 299 องค์กร ได้เข้ายื่นหนังสือขอเป็นคณะผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคประเทศไทย ต้องเน้นย้ำว่าการจัดตั้งสภาฯ นี้ ไม่ใช่สภาฯ ของใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เปิดให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยกัน โดยขณะนี้การประกาศรับรองการจัดตั้งสภาอยู่ระหว่างรอผลรับรององค์กรของผู้บริโภคที่ได้ร่วมยื่นจัดตั้งสภาฯ จากทางจังหวัดที่ได้มีการยื่นจดแจ้งไว้
“สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นสภาพลเมืองเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคด้วยกัน รวมถึงนำเสนอนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับผู้บริโภค เป็นสภาฯ ที่ดำเนินการโดยผู้บริโภค มีบทบาทและหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ที่ผ่านมาเรามีกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบและร้องเรียนแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ ปัญหาการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่กระทบต่อชุมชนที่อยู่เดิม ปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย ผักผลไม้ปนเปื้อนสารเคมี และการถูกเอาเปรียบจากการทำประกัน เป็นต้น” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
นางสารี กล่าวต่อว่า หลังจากการรับรองจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคแล้ว ขึ้นตอนต่อไปตามที่กฎหมายระบุไว้ คือจะต้องมีการเขียนข้อบังคับ และสมาชิกสภายังต้องประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 9 ด้าน พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริโภค เบื้องต้นจะรัฐจะสนับสนุนทุน 350 ล้านบาทในการจัดตั้งสภา ซึ่งเดิมองค์กรที่ทำงานด้านผู้บริโภคมีไม่มาก แต่จากเม็ดเงินนี้อาจทำให้มีผู้รวมตัวไปจดทะเบียนจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อของบส่วนนี้ไปทำงาน อย่างไรก็ตามมองว่าหากมาด้วยความตั้งใจก็ขอให้ร่วมมือร่วมใจกันทำงาน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการทำงานเพื่อผู้บริโภค
ด้าน นางสาวสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ในการขอยื่นจดทะเบียนองค์กรของผู้บริโภคจะต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 4 ข้อ คือ 1.ต้องมีสมาชิกที่ทำงานด้านผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 10 คน 2.เป็นการทำงานที่ไม่แสวงหากำไร 3.มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 2 ปี และ 4.เป็นการจัดตั้งที่เกิดจากความพร้อมของผู้บริโภค ไม่ได้ถูกครอบงำหรือได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ภาครัฐ ซึ่งหากมีคุณสมบัติครบถ้วน อยากเชิญชวนให้ไปร่วมจดแจ้งขี้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภคเพื่อที่จะได้ร่วมกันทำงาน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากเห็นขณะนี้ คือ การเปิดเผยชื่อองค์กรที่ไปยื่นจดแจ้งขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และร่วมกันตรวจสอบ เช่นเดียวกับการขึ้นทะเบียนเครื่องสำอางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อที่จะได้ดูว่ามีผู้ประกอบการที่เข้ามาแอบอ้างเพื่อร่วมจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคหรือไม่ รวมถึงให้มีขั้นตอนการคัดค้านการขึ้นทะเบียนได้ หากพบว่าเป็นการแอบอ้างจัดตั้ง และเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนในการ่วมตรวจสอบคุณสมบัติ เพราะเพียงเจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่รอบด้าน ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นไปและบรรลุตามเจตนารมณ์ และในท้ายนี้ขอฝากไปยังสำนักปลัดสำนักนายกฯ ให้เร่งกระบวนการรับรององค์กรของผู้บริโภคไปยังจังหวัด และขอให้ทางจังหวัดให้ความสำคัญ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนสภาองค์กรของผู้บริโภค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘299 องค์กรผู้บริโภค’ ร่วมยื่นจัดตั้ง ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ครั้งแรกของไทย
- 173 views