ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ประภัตร" รมช.เกษตรฯ นำทีมวิจัย-นักธุรกิจต่างชาติถกประเด็นกัญชา ด้าน "อนุทิน" ย้ำแค่แลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีการแพทย์ ย้ำชัดไร้พูดการลงทุน ไม่มีการเอื้อประโยชน์ภาคเอกชน ยืนยันมุ่งทำเพื่อประชาชน

เป็นประเด็นทันทีภายหลัง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยว่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมพานักวิจัยและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์กัญชาต่างชาติเข้าไปเจรจากับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เพื่อเจรจาเรื่องการเข้ามาลงทุนปลูกกัญชาในประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่ามีเทคโนโลยีสายพันธุ์กัญชาที่พร้อม และเพื่อที่เกษตรกรจะได้มีรายได้ ซึ่งศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ไม่สามารถทำได้ เพราะเขียนเอาไว้ชัดเจนว่าผู้ใดจะปลูกกัญชาทางการแพทย์จะต้องมีการลงทุนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ยิ่งเป็นต่างชาติยิ่งไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าบอกว่าทำเพื่อขายในประเทศไทยก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อบริษัทผลิตยาของไทยเอง ที่สำคัญสิ่งที่นายอนุทินคิดคือทำเพื่อสุขภาพ เพื่อการแพทย์ เพื่อคนไทยทุกคน ถ้าจะต่อยอดทางธุรกิจด้วยการส่งออกก็สามารถทำได้ แต่เจ้าของต้องเป็นคนไทย

ด้านนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย (BioThai) กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการจับตาให้ดี ว่าจะมีการหารือเพื่อใช้ไทยเป็นฐานปลูกกัญชาหรือไม่ ซึ่งตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เขียนเอาไว้อย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้ต่างชาติเข้ามาได้ โดยระบุว่าต้องเป็นนิติบุคคล มีคนไทยถือหุ้น 2 ใน 3 และในช่วง 5 ปี นี้ต้องทำร่วมกับภาครัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เครือข่ายภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการให้นักธุรกิจต่างชาติเข้ามาอยู่แล้ว แต่จะรอดูคำแถลงของนายอนุทิน หลังจากที่จะมีการหรือร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนักธุรกิจต่างชาติ

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ นายประภัตร นำคณะนักวิจัยและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาจากสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล รวม 11 คน ว่า การหารือในครั้งนี้เป็นความหวังดีของกระทรวงเกษตรฯที่ต้องการหาทางเลือกสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จึงพานักวิจัยและผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับกัญชาในต่างประเทศมาให้ความรู้และข้อมูลว่าในต่างประเทศมีการใช้กัญชา สารซีบีดี สารทีเอชซีที่มีอยู่ในกัญชาอย่างไร และมีข้อจำกัดอย่างไร ที่สำคัญมีการยืนยันข้อมูลว่าทั้งในอเมริกา แคนาดา อิสราเอลและออสเตรเลียหากมีการใช้ถูกต้องทางการแพทย์ ทั้งสารซีบีดีและทีเอชซีมีประโยชน์ในการรักษาโรคตามแต่ละโรค ซึ่งจุดนี้ทำให้การเริ่มให้บริการกัญชารักษาโรคในโรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการสบายใจขึ้น เพราะทุกส่วนยืนยันว่ามีประโยชน์

“ในขั้นตอนแรก นโยบายเป็นการใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น การเดินหน้าเรื่องนี้ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์ใดๆให้เอกชน แต่เป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับทางการแพทย์ อุตสาหกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ และโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย ผมและรมช.เกษตรฯมาจากประชาชน จะทำอะไรคิดส่วนตัวไม่ได้ ต้องคิดถึงประชาชน เกษตรกร ไม่ได้มีความคิดแม้แต่น้อยที่จะเอื้อประโยชน์ให้คนใดหรือกลุ่มใด”นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากลุ่มที่เข้าพบมีการพูดถึงประสบการณ์การส่งออกซีบีดีในประเทศนั้นๆหรือไม่ว่าทำได้หรือไม่เพราะยังติดอนุสัญญาระหว่างประเทศที่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดยังไม่สามารถส่งออกได้ นายอนุทิน กล่าวว่า เขาต้องการให้เราส่งออกไปประเทศเขา เพราะหากประเทศไทยดำเนินการเรื่องนี้ดีๆ ไม่พบสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตราย สายพันธุ์และเมล็ดพันธุไทยจะมีสรรพคุณในการทำยาที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไม่ปิดกั้น

เมื่อถามถึงกรณีต่างชาติเข้ามาร่วมกับคนไทยในการปลูกกัญชา 150 ไร่ตามที่เป็นข่าวหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ยังไม่มี

ผู้สื่อข่าวถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าใน 5 ปีจะอนุญาตให้ปลูกเฉพาะหน่วยงานรัฐไทยหรือวิสาหกิจที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ถ้าทำได้เร็วกว่านั้นก็ดี เพราะ 5 ปี มีการพัฒนาเรื่องนี้ไปถึงไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการเรื่องกัญชาเสรีจะเป็นไปตามขั้นตอน คือ เริ่มจากการใช้ทางการแพทย์ ขยายสู่การให้โรงพยาบาลปลูก ซึ่งต้องมีการขออนุญาตและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก่อนทำความเข้าใจและเข้าถึงให้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ทำการปลูก ซึ่งมีอยู่กว่า 1 ล้าน และทุกคนได้รับการขึ้นทะเบียนว่าอยู่ที่ไหน และให้ดูแลตอ่ไปถึงประชาชนในพื้นที่ที่อสม.แต่ละคนรับผิดชอบเป็นการขยายออกสู่ครัวเรือน เพราะหากมีการรั่วไหลก็จะรู้ว่ามาจากเครือข่ายอสม.คนไหน ส่วนต่างชาติจะมาร่วมนั้นเป็นเรื่องมาทีหลัง