ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“นพ.สุรพงษ์” รับเชิญ “รมว.สธ.” หารือเพิ่มศักยภาพระบบหลักประกันสุขภาพ เสนอ 3 เรื่องเร่งด่วน 1.พัฒนาห้องฉุกเฉินครั้งใหญ่ ตั้งเป้าใน 6 เดือน รพ.ระดับจังหวัดต้องมีห้องฉุกเฉินมีประสิทธิภาพ กำลังคนเพียงพอ 2.พัฒนาระบบฉุกเฉินใน รพ.จตุรทิศรอบ กทม.ให้พอรองรับคน กทม.และปริมณฑล 3.เชื่อมโยงสารสนเทศสุขภาพของทุก รพ.สังกัด สธ.เข้าด้วยกัน

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หารือร่วมกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และทีมผู้บริหารทั้ง สธ.และ สปสช. ถึงการเพิ่มศักยภาพของระบบหลักประกันสุขภาพ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวภายหลังหารือว่า ตนได้รับเชิญจากนายอนุทินให้มาร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าอยากจะเห็นการเดินหน้าต่อไปอย่างไร ซึ่งตนเสนอว่า อยากจะเห็นอะไรที่ทำให้เกิดการพัฒนา ทำให้การบริการในช่วงที่ผ่านมาซึ่งอาจมีปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกและอุปสรรคในการเข้าถึง สามารถแก้ปัญหาได้ดีขึ้น โดยเรื่องที่เร่งด่วนและสำคัญ คือ บริการฉุกเฉิน ซึ่งมีทั้งจำนวนคนไข้ที่มาก ผู้ให้บริการมีไม่มาก เกิดการกระทบกระทั่ง คุณภาพการรักษาทำได้ไม่เต็มที่ โดย 1.เสนอให้มีการพัฒนาห้องฉุกเฉินครั้งใหญ่ อย่างน้อยตั้งเป้าว่าภายใน 6 เดือนข้างหน้า โรงพยาบาลระดับจังหวัดทุกจังหวัด จะต้องมีห้องฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐาน มีกำลังคนที่พร้อมเพรียง ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลในห้องฉุกเฉินที่มีคุณภาพมาตรฐานทันที

นพสุรพงษ์ กล่าวว่า 2.ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) แม้โรงพยาบาลของ สธ.ขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ระบบฉุกเฉินอาจรองรับได้ไม่เพียงพอ รมว.สธ.ก็มีนโยบายว่า จะให้มีโรงพยาบาลจตุรทิศรอบ กทม. คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และนครปฐม ก็จะต้องมีระบบการดูแลการแพทย์ฉุกเฉินที่จะพัฒนาให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกัน เพื่อรองรับประชาชน กทม.และปริมณฑล และ 3.ระบบสารสนเทศที่จะทำให้ต่อไปนี้การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศของทุก รพ.สังกัด สธ.เชื่อมโยงกันได้หมด ทั้งการส่งต่อผู้ป่วย การรักษาพยาบาล การเข้าคิว โดยตั้งเป้าหมายว่าประชาชนไม่ต้องมาเข้าคิวรอตั้งแต่เช้ามืด ต่อไปสามารถจองคิวผ่านระบบมือถือสมาร์ทโฟนจากที่บ้านได้ ซึ่งระบบต่างๆ รองรับได้ไม่ยาก แอปพลิเคชันก็ทำได้ รวมถึงการบริหารจัดการอื่นๆ ทั่วไป บุคลากรทำอย่างไรให้มากขึ้น และการกระจายอำนาจ

เมื่อถามว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพมาตรฐานห้องฉุกเฉินอย่างไร นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า จะเน้นเรื่องของคน โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฉุกเฉินจะต้องมีอยู่ในอัตรากำลังเต็มที่ในแต่ละโรงพยาบาล ประชาชนเกิดฉุกเฉินจริงๆ เมื่อมาถึงไม่ใช่เจอแค่แพทย์ฝึกหัด ต้องเจอเชี่ยวชาญฉุกเฉินโดยเฉพาะ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ต้องรองรับเต็มที่ ท่าน รมว.สธ.ก็มีนโยบายว่า จะจัดทำเรื่องกำลังคนและปรับงบประมาณ เพื่อทำให้สามารถรองรับกับเรื่องนี้ใน 6 เดือน โดยมอบปลัด สธ.เป็นผู้รับผิดชอบ

เมื่อถามว่าคนส่วนใหญ่มาห้องฉุกเฉิน รพ.แต่ไม่ได้ฉุกเฉินจริง ทำให้รอคิวนานและแออัด นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เราจะแบ่งโซนชัดเจน คือ คนที่มานอกเวลาที่ไม่ใช่ฉุกเฉินจะอยู่อีกโซนหนึ่งแยกไปเลย และส่วนของฉุกเฉินโดยเฉพาะ ไม่มีการปะปนกัน จะทำให้ไม่เกิดความลักลั่น คนที่ไม่ถึงแก่ชีวิตก็จะเข้าห้องตรวจนอกเวลาโดยทั่วไปแทนต้องมาห้องฉุกเฉิน

ด้าน นายอนุทิน กล่าวว่า ตนเชิญ นพ.สุรพงษ์ มาให้ความเห็นและข้อเสนอเชิงนโยบาย แต่รายละเอียดยังต้องมีการหารือกันอีก ซึ่งในวันที่ 5 ส.ค. จะมีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดย นพ.สุรพงษ์ จะเข้าร่วมด้วย ในฐานะผู้ให้ความเห็น แต่ไม่ใช่ในฐานะบอร์ด สปสช.แต่อย่างใด