ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.แจงประเด็นให้ผู้ป่วยรับยาร้านขายยาแทนใน รพ. หวังลดการรอคิวนาน เหตุมีโมเดลแล้วในกทม. เตรียมขยายในรพศ.ระดับภูมิภาคเร็วที่สุด ชี้เป็นเพียงหนึ่งในมาตรการ มีอีกหลายมาตรการแก้ปัญหา

หลังจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) ถึงกรณีแก้ปัญหาการรอคิวนานในโรงพยาบาลว่า จะให้มีการรับยาภายนอกโรงพยาบาล โดยให้รับยาในร้านขายยาแทน ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ว่า จะแก้ปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ปัญหาการรอคิวรักษานาน โดยจะให้รับยาร้านขายยาภายนอกแทน ว่า จริงๆเรื่องนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายมาตรการที่มีการแก้ปัญหารอคิวนาน เพียงแต่เรื่องนี้เป็นแนวทางที่แก้ได้ง่ายที่สุด โดยสปสช.ให้งบประมาณโรงพยาบาล จากนั้นโรงพยาบาลก็จะให้งบในส่วนของค่ายาให้กับร้านขายยาที่มีการขึ้นทะเบียนกับระบบหลักประกันสุขภาพต่อ ที่ผ่านมาได้มีการนำร่องเรื่องนี้แล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้น จึงเป็นแนวทางในการขยายไปยังโรงพยาบาลศูนย์ระดับภูมิภาคได้ ส่วนรายละเอียดจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาและหารือเกี่ยวกับกลไกในการดำเนินการต่อไป ซึ่งก็จะทำให้เร็วที่สุด

“เราทราบว่าการรอคิว การพบแพทย์ การรับยาบางครั้งต้องใช้เวลาก็ค่อนวัน ถึงจะกลับบ้านได้ การอยู่โรงพยาบาลนานๆ ไม่ใช่สิ่งที่ดี โดยเฉพาะคนที่ป่วยอยู่แล้ว แต่ละ รพ.ก็พยายามคิดหาวิธีการต่างๆ ในการอำนวยความสะดวกให้ดีที่สุด ซึ่งก็จะเป็นการลดภาระงานของตนเองด้วย ผอ.รพ.ทั้งหลายก็พยายามจัดระบบคิว สมาร์ทการ์ดต่างๆ ตอนนี้ก็พยายามทำให้ครบวงจรทั้งหมด เพื่อให้สะดวกทุกขั้นตอน มีอยู่ตอนเดียวที่จะช้าหรือเร็วคือ ตอนพบแพทย์ที่เป็นตอนสำคัญที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาช่วย แต่หลังจากพบแพทย์แล้ว แน่นอนว่าถ้าทุกคนรอที่รพ.หมด กว่าจะจัดยาอะไรเรียบร้อย วิธีการใช้ยา ก็ไม่มีทางจะรองรับได้ ดังนั้น หากใช้วิธีเอ้าท์ซอร์ส พบแพทย์แล้วกลับบ้าน และไปที่ร้านขายยาแทน ซึ่งปัจจุบันมี 20,000 แห่งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ทั่วประเทศ โดยมีการนำร่องไปแล้ว ซึ่งลดความหนาแน่นในรพ.ได้ดีที่สุด” นายอนุทิน กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีปัญหาการรอคิวนาน ส่วนใหญ่มาจากการรอพบแพทย์ นายอนุทิน กล่าวว่า ทางนี้เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหา แต่ก็แก้ทุกแนวทางทั้งหมด

เมื่อถามว่ายาที่จะให้จ่ายในร้านขายยาต้องเป็นยาประเภทใด นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นยาโรคเรื้อรังที่มีการรับเป็นประจำอยู่แล้ว แต่หากมียา

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จริงๆ สธ.รับทราบปัญหาหมดว่า ปัญหารอคิวนานมาจากจุดไหน ทั้งการรอพบแพทย์ และการรอรับยา ซึ่งก็ต้องแก้ไขไปทีละขั้นตอน แต่ขั้นตอนนี้แก้ได้ง่ายกว่า ก็ต้องดำเนินการก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ในเรื่องคุณภาพยายังต้องคงคุณภาพ และค่าใช้จ่ายต้องไม่มากเกินไป

ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ในแง่กฎหมายสามารถทำได้ เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการไปแล้ว 36 แห่งในพื้นที่กทม. โดยทางสปสช.ลงไปตรวจสอบร้านขายยาเหล่านี้ และได้รับการขึ้นเป็นหน่วยร่วมใช้บริการประเภทร้านยาชุมชนอบอุ่น ในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มีเภสัชกรประจำร้านยา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยสปสช.ใช้วิธีการจ่ายเงินตรงไปยังร้านขายยานั้นๆ โดยจะมีเงื่อนไขกำหนด ดังนั้น การขยายบริการให้ไปรับยาที่ร้านขายยาก็สามารถทำได้ และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา เนื่องจากร้านขายยานั้นๆ ต้องเป็นเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น ซึ่งจะสามารถอธิบายวิธีการใช้ยาได้เหมือนกับเภสัชกรในโรงพยาบาล

เมื่อถามว่าการดำเนินการเช่นนี้จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคลากรภายในรพ.ที่มีการเปิดร้านขายยาในพื้นที่ด้วยหรือไม่ นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การจ่ายยาได้ ร้านขายยานั้นๆ จะต้องผ่านการตรวจสอบตามข้อกำหนดของระบบหลักประกันสุขภาพฯ และต้องมีเภสัชกรประจำเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง