ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ รับน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรด 600 ขวด ส่งต่อสถาบันมะเร็งฯ วิจัยหลอดทดลองคาดรู้ผล 3 สัปดาห์  ด้านกรมการแพทย์แผนไทยฯ รับของกลางกัญชาแห้ง 1 พันกก. พัฒนาสูตรตำรับอ.เดชา อีกแสนขวด

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ส่งมอบน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรดล็อตแรก ซี่งเป็นสูตรทีเอชซีสูงจำนวน 4,500 ขวด ว่า สำหรับสารสกัดกัญชาเมดิคัลเกรดของ อภ.จำนวน 4,500 ขวด แบ่งให้โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3,900 ขวด และมอบให้ทางกรมการแพทย์ 600 ขวด โดยทางกรมจะส่งมอบให้ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อทำการศึกษาวิจัยเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองจำนวน 100 ขวด เพื่อศึกษาฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง 10 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งท่อทางเดินน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งตับอ่อน โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์น่าจะทราบผล

“ส่วนอีก 500 ขวด จะนำไปศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาในหนูทดลอง รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง สำหรับน้ำมันกัญชาชนิดที่มีอัตราส่วน THC ต่อ CBD 1 : 1 และ CBD สูงที่จะได้รับนั้น จะมอบให้แก่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัย และการศึกษาวิจัยคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว บางส่วนจะนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคลมชัก โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันประสาทวิทยา สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) และอภ.” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้จัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาการใช้กัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาล / สถาบันเฉพาะทางในสังกัดกรมการแพทย์แล้ว อาทิ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี สถาบันทันตกรรม เป็นต้น และจะครบ 32 แห่งกลางเดือนสิงหาคมนี้ ประชาชนปรึกษาเกี่ยวกับการเฝ้าระวังพิษจากกัญชาได้ที่สายด่วน 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำ official line ให้คำปรึกษาระหว่างสถานบริการสุขภาพและการส่งต่อผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการทางจิตจากกัญชา

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ล่าสุดได้รับการติดต่อจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ว่าจะนำกัญชาของการให้โทษจำนวน 1,000 กิโลกรัมแห้งมาให้ ซึ่งจากการส่งตรวจพบว่าไม่มียาฆ่าแมลง มีแต่โลหะหนักนิดหน่อย แต่สามารถสกัดออกได้ โดยจะนำมาให้กองพัฒนายาไทยและสมุนไพร ของกรมฯ ผลิตเป็นน้ำมันกัญชาสูตร นายเดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นวิธีการผลิตที่ใกล้เคียงกับของนายเดชาแต่ทุกกระบวนการผลิตจะต้องได้รับการยอมรับจากนายเดชา ซึ่งน่าจะได้หลายแสนขวด อย่างไรก็ตามจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคม

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ยา และน้ำมันกัญชาต่าง ๆ ขณะนี้ ได้พัฒนาวิธีการทดสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เช่น สารเคมีปนเปื้อน โลหะหนัก รวมถึงคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ว่ามีสารสำคัญ (THC, CBD) ตรงตามกำหนดหรือไม่ และจัดทำมาตรฐานทางยาของสมุนไพรกัญชา นอกจากนี้ ยังจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานห้องปฏิบัติการกัญชาทางการแพทย์” เพื่อพัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับกัญชา และเครือข่ายห้องปฏิบัติการของหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานการตรวจที่ได้รับการยอมรับให้เกิดความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่ดีในการใช้ของประชาชน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ร่วมกับสถาบันรหัสสากล (GS1 Thailand) เปิดตัว Smartbar Application ซึ่งเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้บริการประชาชนในการตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมายที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ผ่าน Smart Phone ด้วยระบบ Android ส่วนระบบ IOS จะใช้ได้ตั้งแต่ 15 สิงหาคม 2562 โดยสแกนบาร์โค้ด 2 มิติ (GS1 DataMatrix) บนผลิตภัณฑ์กัญชาฯ ด้วยตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานที่ผู้ผลิตแจ้งไว้ กับอย. ได้แก่ ชื่อผลิตภัณฑ์ ความแรง รูปแบบผลิตภัณฑ์ ขนาดบรรจุ ข้อมูลผู้ผลิต เป็นต้น ซึ่งเลขบาร์โค้ดจะพร้อมรองรับการติดตามและสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ได้ในระดับรายชิ้นแบบ real time ในอนาคตจะสามารถติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหว การนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง