ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม อสม.หนุนนโยบายยกระดับเป็นหมอประจำบ้าน แต่ต้องยกระดับ อสม.ทั้ง 1.04 ล้านคน และต้องได้ค่าตอบแทนอย่างเสมอภาค 2,500 บาท/เดือน หากจะเพิ่มสูงกว่านี้ ต้องใช้หลักการงานแลกงเงิน การจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ใช้ระบบ E-payment โอนตรง ไม่ต้องให้หัวหน้าส่วนราชการรับรองการจ่าย และขอให้ปรับปรุงระเบียบว่าด้วยค่าตอบแทนให้เสร็จภายในปีงบประมาณ 2563

นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์

นายไพฑูรย์ บุญอารักษ์ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า วันที่ 8 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกับประธาน อสม.ระดับอำเภอ จาก 76 จังหวัด จำนวน 878 คน ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยมีการหารือถึงนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการยกระดับ อสม. เป็นหมอประจำบ้าน (อ่านข่าว ที่นี่) หมอประจำหมู่บ้าน และจะปรับเพิ่มค่าตอบแทน (ค่าป่วยการ) อสม. จาก 1,000 บาท เป็น 2,500 - 10,000 บาท/เดือน 

นายไพฑูรย์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายยกระดับ อสม. เป็นหมอประจำบ้าน หมอประจำหมู่บ้าน และการปรับเพิ่มค่าตอบแทน (ค่าป่วยการ) อสม. โดยการบริหารนโยบายปรับเพิ่มค่าตอบแทนเพื่อยกระดับนั้น จะต้องยึดหลักความเท่าเทียม ทั่วถึง เสมอภาค ไม่เป็นการสร้างความขัดแย้งเกลียดชังในกลุ่ม อสม. ทุกระดับโดยเฉพาะความขัดแย้งในระดับ รพ.สต. รวมทั้งให้ยกระดับ อสม. เป็นหมอประจำบ้านทั้ง 100% จำนวน 1.04 ล้านคน และให้ได้รับค่าตอบแทนโดยเสมอภาคในอัตรา 2,500 บาท/เดือน

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับ รพ.สต. หากจะปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนในอัตราที่สูงกว่า 2,500 บาท/เดือน เป็นอัตรา 5,000 บาท - 10,000 บาท/เดือน ให้เป็นการปรับเพิ่มอัตรานั้นแก่ อสม. ระดับอำเภอ และระดับจังหวัด และหากจะพิจารณาให้ค่าตอบแทนเพิ่มในอัตราที่สูงกว่า 2,500 บาท ให้ใช้หลักการ "งานแลกเงิน" เท่านั้น ทั้งนี้ อสม. บุคคลนั้นต้องมีระดับสมรรถนะที่แสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ราชการและประชาชน

ในส่วนของการรายงานผลการปฏิบัติงานของ อสม. นั้น ให้ใช้การรายงานผ่านทาง Application อสม.4.0 และการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ใช้ระบบ E-payment โอนตรงให้ อสม. ไม่ต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ (สสอ./ผอ.รพ.สต.) รับรองการจ่าย แต่ให้ อสม. ผู้นั้นรับรองการรับเงินด้วยตนเองเหมือนการจ่ายเงินเดือน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวคือไม่ต้องให้หัวหน้าส่วนราชการมาร่วมรับผิดในกรณีที่ อสม. บกพร่องต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ข้อสุดท้ายคือ ขอให้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการให้ อสม. ได้รับค่าตอบแทนในอัตราใหม่ (หมอประจำบ้าน) และปรับปรุงแก้ไขประกาศ หลักเกณฑ์ วิธี เงื่อนไข และสิทธิการรับเงินค่าตอบแทนของ อสม. ให้แล้วเสร็จและถือใช้ภายในปีงบประมาณ 2563 (1 ตุลาคม 2562)