ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเตือนปชช. อย่าเชื่อข่าวไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่บวกดื้อยา ยังเป็นสายพันธุ์เดิม วอนแพทย์ห้องฉุกเฉิน รับผู้ป่วยกลางดึก สังเกตอาการดีๆ อย่าปล่อยกลับบ้านกลางดึก ชี้มีเคสเดียวกันเสียชีวิตก่อนหน้านี้

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2562 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีมีการส่งต่อข้อมูลทางเฟซบุ๊กว่า ขณะนี้กำลังเกิดการระบาดของไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ และมีปัญหาเชื้อดื้อยา ว่า ขอย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด เพราะไข้เลือดออกที่เป็นในประเทศไทยเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งมีเพียง 4 สายพันธุ์ที่พบเป็นประจำทุกปี คือสายพันธุ์ที่ 1,2,3 และ สายพันธุ์ที่ 4 ซึ่งตามธรรมชาติของการป่วยไข้เลือดออกและมีอาการรุนแรงนั้นจะมีอยู่ 2-3 ปัจจัย คือ 1. ผู้ป่วย ซึ่งปีนี้พบมากในเด็กโต และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งในวัยผู้ใหญ่มักจะมีโรคประจำตัวอยู่แล้วอาทิ อ้วน เบาหวาน ความดัน เป็นต้น ซึ่งหากเกิดการป่วยไข้เลือดออก จะทำให้การดูแลรักษายาก 2. การเข้ารับการรักษาช้า โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ ไม่มีโรคประจําตัว ก็มักคิดว่าป่วยเป็นโรคธรรมดา เช่น ไข้หวัด จึงไม่ได้ใส่ใจที่มาพบแพทย์จะมาพบก็ต่อเมื่อเริ่มมีปัญหาในช่วงไข้ลด ตัวเย็น มีอาการช็อก 3. การซื้อยามารับประทานเองโดยเฉพาะยาในกลุ่ม nsaids

" มีบางราย ที่เข้ารับการรักษา แต่ก็ยังมีปัญหาในส่วนนี้ต้องเรียนว่าขึ้นอยู่กับว่าเป็นการป่วยครั้งที่ 2 หรือไม่รวมถึงการเจ็บป่วยในครั้งนั้นเกิดจากการติดเชื้อเดงกี่สายพันธุ์ที่ 2 หรือไม่ เพราะ 2 ส่วนนี้จะมีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคมากกว่า โดยอาการรุนแรงได้แก่ 1.ใข้เริ่มลดลง ตัวเย็น กินอาหารไม่ได้ ซึมลงความดันตก ชีพจรเต้นเร็ว เข้าสู่ภาวะช็อค หรือ 2. แนววินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกแต่อาการผิดปกติจากเดิม เช่นถ่ายดำมีจุดเลือดออก มีอาการทางสมองซึ่งในส่วนนี้จะพบได้น้อยทั้งหมดนี้เป็นอาการรุนแรงที่เรียกว่าภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้เลือดออก ซึ่งระยะนี้แม้อยู่ในมือหมอก็ดูแลรักษายาก และยังอันตราย" นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ส่วนกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อความว่าไข้เลือดออกดื้อยานั้นก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มียารักษาโรคเฉพาะ ส่วนใหญ่จึงให้การรักษาตามอาการ ประคับประคองไม่ให้อาการทรุดลง จนเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีวัคซีนป้องกัน แต่ก็ให้เฉพาะราย สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออกในปัจจุบันต้องเรียนว่าขณะนี้เข้าสู่ช่วงหน้าฝนอย่างเป็นทางการหลายพื้นที่มีฝนตก ทำให้พบจำนวนผู้ป่วยสูง แต่บางพื้นที่ฝนไม่ตกผู้ป่วยก็ลดลง อย่างเช่นพื้นที่อีสานตอนบน ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็พบว่ามีอัตราผู้ป่วยลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตามโดยค่าเฉลี่ยปัจจุบันพบผู้ป่วยอยู่ที่สัปดาห์ละประมาณ 4,000 ราย ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่มากเมื่อเทียบกับ ช่วงพีคของไข้เลือดออก แต่ประเด็นสำคัญตอนนี้คืออัตราการเสียชีวิตมากกว่า ซึ่งตอนนี้มากกว่า 70 รายแล้ว และยังมีอีกหลายรายที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค

“ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ในส่วนของผู้ป่วยเองหากมีอาการเจ็บป่วยในช่วงนี้ไม่ว่าจะมีโรคประจำตัวหรือไม่มีโรคประจำตัวก็ตามขอให้นึกถึงไข้เลือดออก ขอให้รีบไปพบแพทย์ ไม่แนะนำให้รอดูอาการจนอาการทรุด เพราะถึงแม้ไปพบแพทย์แล้วไม่ได้ป่วยเป็นไข้เลือดออกจริง แต่ก็จะได้รับการดูแลรักษาอาการป่วยที่เป็นอยู่ตามมาตรฐานทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังต้องขอความร่วมมือ ไปยังสถานบริการด้วยเมื่อมีผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลก็ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกเป็นลำดับแรกๆ เช่นเดียวกันเพราะต้องย้ำว่า ช่วงนี้ยังเป็นช่วงพีคของการระบาดของไข้เลือดออกหากผู้ป่วยมาพบแพทย์ในช่วงดึก ก็ขอให้คิดถึงโรคนี้และรับไว้สังเกตอาการ ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยกลับบ้านไปก่อน” อธิบดี คร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการเข้า โรงพยาบาลในช่วงกลางคืนค่อนข้างเป็นไปอย่างไม่สมเหตุสมผล แต่เพื่อป้องกันความรุนแรงจากโรคไข้เลือดออกจะต้องมีการกำชับโรงพยาบาลหรือห้องฉุกเฉินอย่างไร นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องสำคัญซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้กำชับว่าการบริการผู้ป่วยจะต้องทำให้ดี หมายถึง เรื่องนี้ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา เชื่อว่าไม่มีคนไข้คนไหน พี่จะสนุกกับการจะต้องไปรพ.ในช่วงดึก หากเขาทนไม่ได้จริงๆ และยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการระบาดของไข้เลือดออกจึงอาจจะต้องขอความร่วมมือ ในการรับผู้ป่วยไว้ดูแลไว้ในรพ. ไม่ควรให้กลับบ้าน แล้วกลับมาใหม่ในตอนเช้า เพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุรพ.แห่งหนึ่งที่อาจจะไม่ได้นึกถึงโรคไข้เลือดออก จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้าน และกลับมารพ.ใหม่ตอนเช้า ปรากฏว่าผู้ป่วยช็อก และเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ปัญหาไข้เลือดออกไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ยังพบใน ภูมิภาคอาเซียนอย่างตอนนี้ที่อินโดนีเซียมีผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนราย และมีการเสียชีวิตประมาณ 600-700 ราย ขณะที่มาเลเซียก็มีปัญหาการระบาดของไข้เลือดออกมากเช่นเดียวกัน