ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการศวส. เผยที่ผ่านมาแก้ปัญหาการเข้าถึงการดื่มแอลกอฮอล์ แต่นโยบายปัจจุบันกลับเตรียมขยายเวลาเพิ่ม ขอรัฐคิดถึงผลกระทบมิติอื่นมากกว่ากระตุ้นศก.อย่างเดียว ด้านเอ็นจีโอพบรมว.ท่องเที่ยวฯ 22 ส.ค. ขณะที่ผอ.สคอ. เปิดข้อมูลอุบัติเหตุสูงช่วงหลังเที่ยงคืนถึงตี 2

ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นกรณีแนวคิดของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในการขยายเวลาปิดสถานบริการตอน 04.00 น.จากปกติปิดเวลา 02.00 น. ว่า เป็นเพียงแนวคิด ยังไม่มีการนำเสนอข้อมูลรายละเอียด ต้องดูผลดีผลเสียมากน้อยกว่าเดิมแค่ไหน ซึ่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ควรมีการขยาย เพราะจะส่งผลกระทบมาก ทั้งอุบัติเหตุเพิ่ม ผลเสียต่อสุขภาวะต่างๆ

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ที่โรงแรมแมนดาริน นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวถึงกรณีดังกล่าวในงานเสวนาจากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ ว่า ทางฝ่ายวิชาการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากหากพิจารณาปัญหาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มี 3 ปัญหาคือ การเข้าถึง เรื่องราคา และเรื่องการตลาด ซึ่งกรณีการขายเวลาจะอยู่ในปัญหาของการเข้าถึง ทำให้คนเข้าถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสวนทางกับการแก้ไขปัญหามาตลอด อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า ตั้งแต่มีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มีมาตรการทางกฎหมายในเรื่องการควบคุมเวลาการจำหน่ายให้ถึงตี 2 ก็ไม่เห็นคัดค้าน จนกระทั่งมาตอนนี้ ก็แปลกใจเช่นกันว่า เพราะอะไรจะมาขยายเวลา

นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อเสนอว่า หากขยายเวลาปิดเป็นตี 4 แต่ใช้วิธีจัดโซนนิ่งบางพื้นที่ นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า เกิดผลกระทบอยู่ดี ทั้งผลกระทบในบริเวณโซนนิ่ง เพราะจะเป็นแหล่งรวมผู้คนจำนวนมากที่มาเที่ยวมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสี่ยงเกิดการทะเลาะวิวาท ขณะที่บุคคลจากพื้นที่อื่นๆ ก็จะมาที่จัดโซนนิ่งนี้ อย่าลืมว่า เมื่อมาจากพื้นที่อื่น มีการขับรถ ก็เสี่ยงเมาแล้วขับ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มแล้วไม่ขับ ดังนั้น ประเด็นข้อเสนอดังกล่าวต้องคิดดีๆ เพราะจะเกิดผลกระทบมาก เนื่องจากทุกวันนี้ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการเจ็บป่วย อุบัติเหตุ ขาดรายได้ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ที่ภาครัฐต้องจ่ายไปก็เทียบเท่ากับประมาณร้อยละ 1 ของจีดีพี(GDP) แล้ว แทนที่จะเอาส่วนนี้ไปพัฒนาส่วนอื่นๆ และหากขยายเวลาอีกก็ต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายรัฐแน่นอน หากจะคิดว่า การขยายเวลาปิดสถานบันเทิงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ก็ต้องเปรียบเทียบกับมิติอื่นๆด้วย

ด้าน นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีความพยายามที่จะเสนอประเด็นนี้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว จากที่ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเขามีความสนใจ 2 เรื่องหลักคือ ศิลปะวัฒนะธรรม และธรรมชาติ ดังนั้น ควรไปส่งเสริมด้านนี้มากกว่า ในส่วนของตัวเลขผลกระทบจากคนเมาหลังสถานบันเทิงปิดแล้วนั้น ทางเครือข่ายไม่ได้มีการเก็บอย่างเป็นทางการ แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น การทะเลาะวิวาทจะเพิ่มมากขึ้น การสร้างความรำคาญให้ชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่มากขึ้น และอุบัติเหตุใหญ่ๆ หลังผับปิดส่วนใหญ่เกิดจากการเมาแล้วขับ หลังกลับจากสถานบันเทิงทั้งสิ้น เรื่องนี้อยู่ที่ว่ารัฐบาลหมายมุ่งต้องการนักท่องเที่ยวแบบใด ถ้าต้องการนักท่องเที่ยวคุณภาพก็ควรส่งเสริมเรื่องศิลปะวัฒนะธรรม รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  แต่เรียนว่านักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพก็มีการใช้จ่ายสูง ถ้าหวังจะได้เงินจากการเที่ยวผับคงไม่มาก

คำรณ ชูเดชา

“ เราไม่จำเป็นต้องดูแค่ตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่ควรดูว่านักท่องเที่ยวมีคุณภาพหรือไม่ เพราะบางพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ เราก็เห็นว่ามีปัญหามาก แม้แต่บางโซนนิ่งที่พยายามทำก็ไม่เข้ากับบริบทหลายพื้นที่ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องท้วงติงต่อรัฐบาล ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ทางเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุราเตรียมไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อคัดค้านการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงเป็นตี 4 และมองว่าเวลาที่อนุญาตปัจจุบันคือ 02.00 น. เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว ที่จริงรัฐบาลที่แล้วหรือตามความเป็นจริงก็คือรัฐบาลชุดเดียวกันที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ทำเรื่องดีๆ เอาไว้หลายเรื่อง เช่น การจัดโซนนิ่งในพื้นที่รอบสถานศึกษา ทำให้สถานบันเทิงลดลง เป็นจุดแด่นเรื่องการคุมสถานบันเทิง จึงอยากให้ทำสิ่งที่ดีต่อไป

ด้านนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากการทำงานเรื่องอุบัติเหตุมา พบว่ามักเกิดในช่วง 4 โมงเย็น ถึง 6 โมงเย็น และอีกช่วงคือหลังเที่ยงคืนถึงตี 2 ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอด และเป็นช่วงเดียวกับที่บรรดาพ่อค้า แม่ค้าที่ไปจ่ายตลาดซื้อของมาเตรียมขายนั้น ได้รับผลกระทบเกิดอุบัติเหตุจากคนที่เมาเพิ่งออกจากผับจำนวนมาก แล้วถ้าขยายมาปิดตอนตี 4 เรียกว่าแทบจะปล่อยให้มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทบจะ 24 ชั่วโมงเลยก็ว่าได้ ผลกระทบจะยิ่งมากกว่าเดิมกับคนที่ต้องเดินทางในช่วงเช้า ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงานพ่อค้า แม่ค้า

ผอ.สคอ.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตนได้มอบให้ทีมงานติดตามนโยบายนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะมีผลกระทบอย่างที่เรียนไปนั้น แต่เราเกรงว่าจะเบรกเรื่องนี้ไม่อยู่ เพราะภาคธุรกิจรุกหนัก ขณะที่ภาครัฐกลับอ่อนแอ ตามไม่ทันหรืออย่างไร ถ้านโยบายนี้สำเร็จถามว่าการควบคุมดูแลจะทำอย่างไร สถานการณ์จะรุนแรงแค่ไหน วันนี้กฎหมายที่มีอยู่แทบจะไม่มีการลงโทษอะไรอยู่แล้ว เรือที่รั่วอยู่แล้วนอกจากจะไม่อุดรอยรั่ว แต่ไปทำให้รั่วมากยิ่งขึ้นก็ยิ่งจมลงเร็วเท่านั้น ตอนนี้ยังไม่มีผู้บริหารคนไหนมาขอข้อมูลผลกระทบจากคนเมาจากเรา แต่ถึงไม่มาขอก็น่าจะทราบดีอยู่แล้วว่ามีมากแค่ไหน จริงๆ เรื่องนี้ รัฐควรจะต้องทำงานเชิงรุกในการป้องกันผลกทบ ไม่ใช่ต้องรอให้ภาคประชาชน หรือใครมาร้องเรียนว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม แต่วันนี้ รัฐเองกลับจะเป็นผู้ทำให้เกิดปัญหาเองหรือไม่

พรหมมินทร์ กัณธิยะ