ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เตรียมกระจายยา "ศุขไสยาศน์-ทำลายพระสุเมรุ" ทยอยจัดส่งรพ. 28 ส.ค. พร้อมออกเกณฑ์เวชปฏิบัติคัดกรองผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2562 นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการเปิดตัวคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสุขภาพ 13 แห่ง และพื้นที่ติดตามการใช้น้ำมันกัญชาในงานวิจัย ว่า ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม กรมฯ ได้เชิญผู้บริหารของโรงพยาบาลที่ให้บริการการแพทย์แผนไทยจำนวน 18 แห่งมาหารือถึงแนวทางและจัดทำคู่มือการเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้น คือ จะเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยในวันที่ 2 กันยายนนี้ ในส่วนของตำรับศุขไสยาศน์ก่อน เนื่องจากผลิตเสร็จและผ่านการตรวจความปลอดภัยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว มีจำนวน 4,400 ซอง ส่วนน้ำมันกัญชาสูตรนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หรือน้ำมันเดชา ซึ่งอยู่ระหว่างการผลิตได้ 99% กำลังรอการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคนกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเงื่อนไขของคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ คือ การนำมาใช้จะต้องมีการวิจัยเต็มรูปแบบ หากผ่านการอนุมัติจึงจะดำเนินการได้

นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า คลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.ตำรับยาแผนโบราณ 16 ตำรับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด ซึ่งในส่วนนี้จะดำเนินการในโรงพยาบาลที่ให้บริการการแพทย์แผนไทย 13 แห่ง โดยทุกโรงพยาบาลพร้อมให้บริการวันที่ 2 กันยายนนี้ เนื่องจากมีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรกัญชาทางการแพทย์ ขณะที่โรงพยาบาลเองก็ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว 10 แห่ง ส่วนอีก 3 แห่งจะได้รับใบอนุญาตภายในสัปดาห์นี้ คือ รพ.พล รพ.เสาไห้ และ รพ.ป่าบอน

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า ส่วนตำรับยากัญชาจะเริ่มจากตำรับศุขไสยาศน์ก่อน ซึ่งผ่านการตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว โดยวันที่ 28 สิงหาคม จะส่งให้แก่ 13 โรงพยาบาลผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) คาดว่าใช้เวลา 2-3 วันก็จะถึงทุกโรงพยาบาล ส่วนตำรับทำลายพระสุเมรุ ผลิตเสร็จแล้วจำนวน 2 พันซอง อยู่ระหว่างรอผลตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ภายในวันที่ 27 สิงหาคม หากผ่านมาตรฐานก็จะส่งให้ 13 โรงพยาบาลผ่านทาง อภ.เช่นกัน ส่วนอีก 14 ตำรับที่เหลือต้องรอการปลูกกัญชาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน ที่จะได้ผลผลิตช่อดอกใน ต.ค.นี้ ก็จะผลิตตำรับอื่นๆ ตามออกมาได้ แล้วค่อยกระจายให้ 13 โรงพยาบาล ส่วนที่เลือกผลิต 2 ตำรับนี้ก่อน เพราะใช้กัญชาแห้งจากของกลาง และเป็นตำรับที่แพทย์แผนไทยแจ้งเข้ามาว่าจะมีการใช้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตามแผนที่วางไว้จะผลิตตำรับยาทั้ง 16 ตำรับให้รองรับผู้ป่วยตำรับละ 10,000 ราย

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า สำหรับแนวปฏิบัติของคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทย จากการระดมสมองร่วมกัน 18 รพ. ได้เกณฑ์ 6 ข้อ คือ 1.ผู้ป่วยที่มีอาการหรือเป็นโรคที่เข้าเกณฑ์ตามแนวเวชปฏิบัติในการเข้ารับการรักษาด้วยตำรับยาแผนไทยที่มีส่วนผสมของกัญชาในคลินิกกัญชา โดยมีแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ สั่งใช้ 2.ภาวะที่แพทย์ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์เห็นสมควรได้รับการรักษาด้วยตำรับยาที่มีส่วนผสมของกัญชา 3.เพศชายหรือเพศหญิง มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป 4.ได้รับการรักษาด้วยยาขนานแรกและวิธีการมาตรฐานทางการแพทย์แผนไทยแล้วอาการไม่ดีขึ้น 5.ผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพและอาการทางคลินิกคงที่ และ 6.มีการรับรู้และสติสัมปชัญญะดี สามารถสื่อความหมายเข้าใจ

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า และ 2.น้ำมันกัญชา ซึ่งมี 1 ตำรับ คือ น้ำมันเดชา ที่ต้องใช้ภายใต้เงื่อนไขการวิจัยในมนุษย์ ขณะนี้กรมฯ ได้รับรายชื่อผู้ป่วยจาก อ.เดชาแล้ว 3 หมื่นราย ซึ่งจะทราบว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนป่วยด้วยโรคอะไร ก็จะรับมาดูแล ส่วนการใช้ต้องใช้ภายใต้การวิจัย จึงมีการทำระบบติดตาม โดยน้ำมันเดชาที่จะผลิตได้ 6 แสนขวดจะมีการลงหมายเลขแทร็กกิงต่างๆ มีคิวอาร์โคด เพื่อให้ติดตามได้ตั้งแต่ต้นทางถึงผู้ป่วยว่าขวดนี้ผลิตจากวัตถุดิบล็อตไหน ส่งไปถึงผู้ป่วยคนไหนรักษาโรคหรืออาการอะไร ซึ่งการวิจัยจะทำร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล และคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยการติดตามจะมี 2 รูปแบบ คือ ติดตามคุณภาพชีวิตของผู้ใช้ ได้ผลมากน้อยแค่ไหน ผ่านระบบการติดตามของจุฬาฯ และติดตามความปลอดภัย ซึ่งการวิจัยน้ำมันเดชาในผู้ป่วยจะดำเนินการใน 18 โรงพยาบาล โดยใช้เวลา 6 เดือนในการติดตาม หากได้ผลดีจะพัฒนาในเชิงอุตสาหกรรม และเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติและสิทธิประโยชน์ของบัตรทองต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงพยาบาล 13 แห่งที่จะให้บริการตำรับยาแผนโบราณที่มีกัญชาผสม ซึ่งจะเริ่มจากตำรับศุขไสยาศน์ที่มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับเจริญอาหาร ฟื้นฟูกำลังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และตำรับทำลายพระสุเมรุ ที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการเกร็งกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง ชา ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยในตำราจริงๆ จะเขียนว่าแก้ลมชัก ปากเบี้ยว ตาแหก ได้แก่ 1.รพร.เด่นชัย จ.แพร่ 2.รพ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก 3.รพ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี 4.รพ.เสาไห้ จ.สระบุรี 5.รพ.ดอนตูม จ.นครปฐม 6.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี 7.รพ.พล จ.ขอนแก่น 8.รพ.พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จ.สกลนคร 9.รพ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ 10.รพ.พนา จ.อุบลราชธานี 11.รพ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี 12.รพ.ป่าบอน จ.พัทลุง และ 13.รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน ยศเส

ส่วนโรงพยาบาล 18 แห่งที่จะใช้น้ำมันเดชาและวิจัย คือ รพ. 13 แห่งเดิมที่ให้บริการตำรับยาแผนโบราณ แต่จะเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง คือ 1.รพ.เถิน จ.ลำปาง 2.รพ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ 3.รพ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี 4.รพ.เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จ.ระยอง และ 5.รพ.ห้วยเกิ้ง จ.อุดรธานี