ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลับขอนแก่น เตือนโครงการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์มีความเสี่ยงสูง สภาเภสัชกรรมไม่แนะนำให้ทำ อีกทั้งเตือนเภสัชกรผู้จัดส่งยา หากผู้ป่วยมีปัญหาเกิดขึ้นมีโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

รศ.ดร.ไพบูลย์ ดาวสดใส คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึง โครงการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ซึ่งมีการดำเนินการในหลายๆหน่วยบริการว่า เรื่องนี้ทางสภาเภสัชกรรมไม่แนะนำให้ทำเพราะเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงอย่างมาก การส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยโดยตรงมีโอกาสเกิดความผิดพลาดสูงมากเนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้เลยว่าผู้ป่วยได้รับยาจริงหรือไม่ ใช้ยาถูกวิธีหรือไม่ มีอาการแพ้หรือไม่ เหล่านี้ถ้าผู้ป่วยใช้ยาแล้วเกิดโทษหรือได้รับอันตราย คนที่ต้องรับโทษก็คือคนส่งยาไปไม่ว่าจะเป็นบุคลากรประเภทใดก็ตาม ซึ่งในส่วนของวิชาชีพเภสัชกรก็มีจรรยาบรรณควบคุมอยู่ ถ้าเกิดปัญหาผิดพลาดขึ้นมา เภสัชกรผู้จัดส่งยาก็ต้องรับผิดชอบ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางจรรยาบรรณและถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ

"มันจะมีปัญหาทั้งว่าจ่ายยาถูกคนหรือไม่ จ่ายครบหรือไม่ มีการให้คำปรึกษาหรือไม่ เพราะการใช้ยาแม้ผิดในเรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่น เป็นไข้เลือดออกแล้วไปกินแอสไพริน คนไข้ก็เสียชีวิต นอกจากนี้ การส่งยาทางไปรษณีย์มีโอกาสใช้ยาแทนกันสูงมาก เช่น พี่เห็นว่าน้องมีอาการโรคคล้ายกันเลยส่งยานั้นให้น้องใช้ แล้วน้องอาจมีอาการแพ้ยา เรื่องนี้เภสัชกรที่ส่งยาต้องรับความเสี่ยงและถูกลงโทษ เพียงแต่ที่ผ่านมามันยังไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น" รศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าว

รศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าวอีกว่า การที่หน่วยงานใดก็ตามจ่ายยาทางไปรษณีย์ เรื่องนี้ให้พึงระวังอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ดำเนินการแบบนี้ แม้จะอ้างว่าเป็นหน่วยงานรัฐได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ตนไม่เห็นด้วย ถามว่าใช้กฎหมายข้อใดมายกเว้น อีกทั้งการยกเว้นนั้นก็ต้องตีความอีก แต่ถ้ามีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินขึ้นมาก็เป็นคดีอาญาและแพ่ง เภสัชกรที่ส่งยาก็ต้องรับผิดชอบกันเองและสภาเภสัชกรรมก็ต้องลงโทษซ้ำอีก

"กว่าจะได้ใบประกอบวิชาชีพมา มันเหนื่อยนะ ต้องสอบ ต้องมีมาตรฐาน แต่ถ้ามีปัญหาทางจรรยาบรรณท่านก็ต้องรับโทษ ดังนั้นการส่งยาทางไปรษณีย์ให้กับผู้ป่วยโดยตรงจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอย่างยิ่ง ต้องมีเภสัชกรส่งมอบยาให้ผู้ป่วยโดยตรงจะดีกว่า เช่น การส่งยาให้เภสัชกรแล้วเภสัชกรนำส่งแก่ผู้ป่วย" รศ.ดร.ไพบูลย์ กล่าว