ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : ผู้สื่อข่าว Hfocus มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.สาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เกี่ยวกับนโยบายสาธารณสุขในประเด็นต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำเสนอนโยบายในเรื่องของการดูแลและสนับสนุนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขทุกสายงาน สายวิชาชีพ

(อ่านเพิ่มเติม เปิดนโยบาย “สาธิต ปิตุเตชะ” รมช.สธ. ประเด็นสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร (ตอนที่ 1 ) )

มาครั้งนี้ลองมาพิจารณาถึงนโยบายลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการรับบริการมากขึ้น เบื้องต้นตั้งเป้าเห็นผลงานภายใน 1 ปี

 

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

“การที่มาเน้นเรื่องการรับยาร้านขายยา เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล เนื่องจากมีเสียงจากประชาชนว่า เมื่อรับการตรวจวินิจฉัยแล้ว กลับต้องมารอคิวรับยาอีก ซึ่งไม่มีเหตุผลในการรอเมื่อเทียบกับการรอพบแพทย์ ที่ยังเข้าใจได้ว่ามีจำนวนแพทย์น้อยกว่าผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ”

จริงๆแล้ว นโยบายลดการรอคิวในโรงพยาบาล จะมี 3 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นตอนการลงทะเบียน พิสูจน์สิทธิการรักษา 2.ขั้นตอนการพบแพทย์ และ 3.ขั้นตอนการรับยา ที่มาเน้นนโยบายเรื่องรับยาร้านขายยาก่อนนั้น เนื่องจากเมื่อไปใช้บริการก็จะมีคนมาบ่นว่า เมื่อรับการตรวจวินิจฉัยแล้ว กลับต้องมารอรับยาอีก 3-4 ชั่วโมง ทำให้รู้สึกว่าไม่มีเหตุผลในการรอ เมื่อเทียบกับการรอแพทย์ เนื่องจากจำนวนแพทย์น้อยแต่คนเยอะ และการตรวจวินิจฉัย แต่ก็มีความคิดเห็นว่า มารอแพทย์มาชั่วโมงกว่า แต่พอได้เข้าพบแพทย์วินิจฉัยพูดคุยกันแค่ 3 นาที ซึ่งน้อยมาก

“ความเห็นผมก็อยากให้ใช้เวลาในการพบแพทย์มากหน่อย แต่การใช้เวลาน้อยตรงส่วนนี้ก็มีหลายปัจจัย ซึ่งบางกรณีอาจเป็นคนไข้เดิมที่มารับยาประจำ แต่หลักการก็พยายามหาทางเพื่อให้แพทย์มีเวลาพูดคุยกับคนไข้มากขึ้น เพราะจากการที่ผมเป็นทนายความมาก่อน ทราบดีว่า ต้องคุยกับลูกความให้ละเอียด ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ประเด็นไปสู้คดีให้ชนะได้ ยิ่งคุยน้อยยิ่งแพ้คดี ซึ่งเป็นวิชาชีพหนึ่งที่คิดว่าใกล้เคียงกัน”

ภาพจาก สปสช.

 

ส่วนขั้นตอนที่ 1 ในการลงทะเบียน ตรวจสอบสิทธิ์การรักษา ขณะนี้มีระบบคิวที่ค่อนข้างดี อย่าง รพ.ชลบุรี ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพิ่มความสะดวกประชาชนผู้รับบริการ อาทิ ระบบจองคิวและบอกคิวที่อัพเดทสถานะแบบเรียลไทม์ ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาไปทำภารกิจอื่นก่อนถึงเวลาตรวจได้ แจ้งเตือนนัดหมายพบแพทย์ ระบบชำระเงิน ข่าวสารทางสุขภาพ ระเบียนสุขภาพเข้าถึงประวัติทางการแพทย์ได้ทุกที่ทุกเวลา และเป็นแอปพลิเคชันโรงพยาบาลแห่งแรกที่เชื่อมต่อฐานข้อมูลของ สปสช. ซึ่งผู้ป่วยตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาล ได้ทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ สิทธิ์หลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) สิทธิ์ประกันสังคม และสิทธิ์สวัสดิการ การรักษาพยาบาลของข้าราชการ

ขั้นตอนที่ 3 การรับยาร้านขายยา ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้ ให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด จิตเวช หรือโรคเรื้อรังที่ไม่มีความซับซ้อนในการดูแล โดยให้ไปรับยาที่ร้านขายยาในเครือข่ายของโรงพยาบาลแทน เพื่อลดการรอตรงส่วนขั้นตอนรับยา โดยหากทำได้ก็จะลดปริมาณการรอคิว ลดเวลาลงได้ ซึ่งตนตั้งใจอยากให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคดังกล่าว ใช้เวลาไปโรงพยาบาลเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น หากทำได้จะดีมาก เพียงแต่อาจไม่สำเร็จทันทีในยุคตนก็เป็นได้ ซึ่งอาจเป็นรัฐบาลอื่นๆมาทำต่อก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว

“ผมตั้งเป้าว่าในพื้นที่นำร่องที่จะทำในโรงพยาบาล 50 แห่ง ร้านยาไม่เกิน 500 แห่ง น่าจะลดปัญหาการรอคิวลงให้ได้ประมาณ 10 %ในช่วงเวลา 6 เดือน ดังนั้น หากรัฐบาลมีอายุอยู่ได้สัก 1 ปี จะลดการรอคิวใน 4 กลุ่มโรคได้สัก 20 % ผมว่าจะเป็นประโยชน์มาก และจะขยายไปยังโรคอื่นๆได้ด้วย”

 

 

จริงๆเรายังมีนโยบายบล็อกเชน (Blockchain) ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยมาก หากเราศึกษาเรื่องเงินดิจิทัล เราจะทราบดีว่ามีความปลอดภัยสูง เพราะหากคนใช้กันทั่วโลกจึงต้องมีความปลอดภัยสูง และข้อมูลนั่นๆ ไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งมีแนวคิดว่าจะนำมาใช้ในระบบบริการสาธารณสุข ยกตัวอย่าง การคีย์ข้อมูลคนไข้ลงในบล็อกเชน จะกระจายไปตามกล่องต่างๆ และมีความปลอดภัยสูง ไม่มีใครสามารถแฮกข้อมูลได้ และคนไข้ก็เป็นเจ้าของข้อมูลตัวเอง โดยตรงนี้จะอำนวยความสะดวกกับคนไข้

ยกตัวอย่าง หากไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ คนไข้ที่อยู่จ.แม่ฮ่องสอน และมาอยู่กทม. แต่จะใช้สิทธิ์การรักษา แพทย์ก็จะบอกว่า ให้เอาข้อมูลจากแม่ฮ่องสอนก่อน แต่หากมีเทคโนโลยีบล็อกเชนก็แค่คีย์ข้อมูลก็ทำให้รู้รายละเอียดทั้งหมด แต่คนไข้ต้องยินยอม เพราะคนไข้จะมีพาสเวิร์ดของตนเอง และยังสามารถนำมาใช้ในระบบการส่งต่อได้ด้วย จะได้อำนวยความสะดวกมากขึ้น เพียงแต่ก็ต้องมาหารือในรายละเอียด และเรื่องงบประมาณ