ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กม.ควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมฯ มีผลบังคับใช้ กำหนดนายจ้างต้องจัดสถานประกอบการปลอดภัย คุ้มครองแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งเกษตรกรต้องปลอดสารพิษ ขยายไปถึงประชาชนที่อยู่โดยรอบสถานที่ปฏิบัติงาน ให้อำนาจอธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศเขตอันตรายได้

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ว่า ในวันนี้ (19 ก.ย.) พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว เพื่อคุ้มครองแรงงานทั้งในและนอกระบบ โดยนายจ้างต้องมีการจัดสถานประกอบการที่ปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น หากมีมลภาวะ มีสารพิษอันตรายใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นายจ้างต้องรีบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และนำลูกจ้างเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว ทั้งนี้ กฎหมายยังดูแลครอบคลุมไปถึงประชาชนที่อยู่โดยรอบสถานที่ปฏิบัติงานนั้นๆ ด้วย โดยให้อำนาจอธิบดีกรมควบคุมโรคในการประกาศเขตอันตรายและนำผู้ได้รับผลกระทบเข้ารับการบำบัดรักษาโดยเร็ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้มีการตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมา 1 ชุดด้วย

เมื่อถามว่ากฎหมายดังกล่าวครอบคลุมไปถึงเรื่องการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีการใช้อย่างแพร่หลายหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ครอบคลุมอันตรายจากสารเคมีในภาคเกษตรทุกชนิด รวมถึงสารเคมีอันตราย 3 ตัว คือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพริฟอส ในภาคเกษตรที่มีการผลักดันให้ยกเลิกการใช้อยู่ในขณะนี้ด้วย ขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่เอา ทางรมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ไม่เอา และจากการสอบถามไปยังรมว.อุตสาหกรรมก็ยืนยันไม่เอา เห็นพ้องต้องกันในการต่อสู้เรื่องนี้

 กระทรวงสาธารณสุข เซย์โน มาตลอด สังคมเขาไม่เอา แต่คนเห็นแก่ตัวจะเอา รมช.เกษตรฯ ก็ขับเคลื่อนไปในแนวทางเดียวกันคือไม่เอา เมื่อวานเรียนถามรมว.อุตสาหกรรมก็เซย์โน มีคนไม่เห็นด้วยตั้ง 3 ฝ่าย แล้วจะไปเซย์เยสได้อย่างไร กรรมการที่เห็นด้วยต้องดูว่ามาจากกระทรวงสาธารณสุขหรือเปล่า หากมาจากกระทรวงสาธารณสุข แล้วไม่ทำตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเดี๋ยวเจอกัน 

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากนี้สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือ 1.ออกอนุบัญญัติเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการเงื่อนไขในการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน 2.จัดตั้งกรรมการระดับจังหวัดและกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องมีการกำหนดอนุบัญญัติฉบับที่ 2 ควบคู่ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เลย โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องจะเริ่มมีอำนาจในวันที่ 19 กันยายนนี้ และต้องมีการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน ซึ่งมี 2 ส่วน คือมีอำนาจทั่วราชอาณาจักรที่จะเป็นส่วนกลาง และเจ้าพนักงานที่อยู่ในเขตพื้นที่ 76 จังหวัด และ 3.เมื่อมีคณะกรรมการครบรวมผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 ราย ก็ต้องมีการประชุมเรื่องแผนในการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพ และโรคจากสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งจะมีการประชุมภายใน 3 เดือน หรือประมาณเดือนธันวาคม ซึ่งถูกกำหนดโดยกฎหมายว่าต้องทำก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)

  สำหรับเกษตรกรถือเป็นแรงงานนอกระบบ กฎหมายนี้ก็จะไปประกอบกับกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายจากการประกอบการโรงงาน พ.ร.บ.ความปลอดภัยและชีวอนามัย เป็นต้น ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าเราไม่เคยวินิจฉัยโรค เราวินิจฉัยได้แต่ไม่ได้วินิจฉัยว่ามาจากการทำงาน เช่น พบโรคมะเร็งปอด จากใยอะไรซักอย่างแต่หมอก็บอกไม่ได้ว่ามาจากการทำงาน เพราะไม่เคยเก็บข้อมูลการสัมผัสหรือความเสี่ยง ให้เป็นระบบหรือการตรวจสุขภาพก่อนหรือหลัง ทั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเอาผิดแต่ต้องการให้จัดการเรื่องความปลอดภัย เพราะเมื่อการพบ 1 เคส ก็จะตามมาเป็นภูเขาน้ำแข็ง ดังนั้นการมีกฎหมายตัวนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ