ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยถือเป็นประเทศน้องใหม่ในแวดวงกัญชาทางการแพทย์ เราเดินตามรอยทางที่หลายประเทศถางเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือ “เยอรมนี”

ไม่มีใครปฏิเสธความก้าวหน้าและองค์ความรู้เรื่องกัญชาของเยอรมนี ที่ผ่านมาประเทศแห่งนี้ได้ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลเพื่อศึกษาวิจัย ก่อนจะตัดสินใจใช้กัญชาทางการแพทย์ในปี 2560

ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่กัญชาเข้าไปมีบทบาทในระบบสุขภาพของคนเยอรมัน ปรากฏว่าเกิดความสับสนวุ่นวายกันยกใหญ่ ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการดูแลรักษาทางการแพทย์ในระดับที่ “8 สมาคมแพทย์แห่งประเทศเยอรมนี” ต้องออกมาส่งเสียงเตือน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเยอรมนี เป็นสิ่งที่ประเทศไทยสมควรเรียนรู้และรับฟัง

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เทียบเคียงว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีอาจคล้ายคลึงกับสิ่งที่ประเทศไทยกำลังจะเจอ กล่าวคือในอดีต กลุ่มผู้ที่สนับสนุน-ผลักดันการใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย เคยอ้างอิงกรณีของประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ที่ได้ปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ แต่ที่สุดแล้วในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาก็มีบทเรียนถึงปัญหามาแล้วทั้งสิ้น

สำหรับประเทศเยอรมนี ที่เริ่มใช้กัญชาทางการแพทย์เมื่อปี 2017 ปัจจุบันพบปัญหาเรื่องไม่สามารถควบคุมการใช้ได้ มีการแอบอ้างสรรพคุณและโฆษณาเกินจริง กลายเป็นความสับสนในการดูแลรักษาทางการแพทย์ว่าแท้ที่จริงแล้วกัญชาจะมีบทบาทอย่างไร

ทั้งนี้ เนื่องจากหากพิจารณาตามหลักฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จะพบว่าสามารถใช้ได้น้อยมากเพียบไม่กี่ข้อบ่งชี้ แต่สถานการณ์ในประเทศเยอรมนีตรงกันข้าม คือใช้กันจนเกินการควบคุมและใช้โดยเชื่อการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง

ทั้งหมดนี้ นำมาสู่ข้อกังวลของ “จาก 8 สมาคมแพทย์แห่งประเทศเยอรมนี” จนมีการออกแถลงการณ์ร่วม ตีพิมพ์ในวารสาร Schmerz เป็นภาษาเยอรมัน เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2019

แถลงการณ์ฉบับดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นขึ้นจากที่ “สมาคมแพทย์แห่งประเทศเยอรมนี” ได้ประชุมกัน และออกแถลงการณ์มาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และเสนอแนะรัฐบาลว่าหากต้องการทำเรื่องกัญชา ควรมุ่งไปที่การลงทุนด้านการศึกษาวิจัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อพิสูจน์ว่ากัญชาสามารถนำมาใช้ในแง่ของการดูแลรักษาได้จริงหรือไม่ โดยต้องอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ ก่อนประกาศเป็นนโยบาย

“ทางเยอรมนีก็ยอมรับว่าสรรพคุณต่างๆ ที่มีอยู่นั้น ในเชิงข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ก็ยังมีไม่เพียงพอในด้านของมาตรฐานทางการแพทย์สากล นี่คือจุดเริ่มต้นของแถลงการณ์ร่วม 8 สมาคมแพทย์แห่งประเทศเยอรมนี” ผศ.นพ.ธีระ อธิบาย

ผศ.นพ.ธีระ อธิบายต่อไปว่า หลังจากที่ “สมาคมแพทย์แห่งประเทศเยอรมนี” ได้ออกประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม ในอีกไม่กี่เดือนถัดมาคือเดือนกันยายน ก็มีงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ในระดับสากลที่ชื่อว่า Schmerz ซึ่งเป็นงานวิจัยจากตัวแทนสมาคมแพทย์สาขาต่างๆ รวมทั้งสิ้น 8 แห่ง ออกแถลงการณ์โดยให้เหตุผลที่สอดคล้องกับแถลงการณ์ฉบับแรก

“สาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วม 8 สมาคมก็คือ เกิดเหตุไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์ และเหตุดังกล่าวก็ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนประชาชน ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และมาช่วยกันแก้ไขกันอย่างจริงจัง” ผศ.นพ.ธีระ ระบุ

สำหรับแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว เรียกร้องอย่างน้อยไปยัง 3 กลุ่ม คือ 1. สื่อมวลชน ซึ่งที่ผ่านมามักจะเสนอข่าวโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องตามหลักวิชาการ ฉะนั้นข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นข่าวที่ “เชื่อว่า” หรือเป็นไปในลักษณะที่ “งมงาย” ในสรรพคุณของกัญชา ซึ่งเป็นการรายงานถึงด้านดี ที่เป็นด้านดีที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์

ดังนั้น 8 สมาคมแพทย์ฯ จึงเรียกร้องให้สื่อมวลชนเสนอข่าวโดยตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ และนำเสนอด้วยความสมดุล คือไม่ใช่เสนอแต่ข้อดีอย่างเดียว แต่ต้องรายงานถึงผลกระทบ ข้อเสีย ข้อจำกัด หรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่จะตามมาด้วย

สำหรับกลุ่มที่ 2. บุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นต้องดูแลรักษาคนไข้ตามหลักมาตรฐานทางการแพทย์ระดับสากล คือต้องพิสูจน์ได้ตามขั้นตอนมาตรฐานแล้วเท่านั้น จึงนำมาใช้กับคน พร้อมกันนี้หากคิดจะใช้กัญชาในการดูแลรักษา “จงใช้อย่างระมัดระวัง”

กลุ่มสุดท้าย 3. นักการเมือง ซึ่งเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายสาธารณะ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว นักการเมืองควรจะตัดสินใจทางนโยบายโดยอิงหลักฐานเชิงประจักษ์ นั่นก็คือข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นมาตรฐานสากล

“เมื่อสัก 2 ปีก่อน ประเทศไทยมีการพูดถึงเยอรมนีโมเดล พูดกันเรื่องเยอรมนีปลดล็อคกัญชาแล้วทำไมประเทศไทยไม่ปลดล็อคบ้าง การใช้กัญชาทางการแพทย์ในเยอรมนีเป็นหนึ่งในกระแสที่ถูกนำมาโหมเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยใช้บ้าง แต่จากแถลงการณ์ของ 8 สมาคมแพทย์ฯ ชี้ให้เห็นแล้วว่าเยอรมนีก็มีปัญหา ซึ่งประเทศไทยก็ควรนำมาคิดด้วยเช่นกัน” ผศ.นพ.ธีระ ระบุ

ผศ.นพ.ธีระ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า กว่าจะมาเป็นองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์สากล (western medicine) จะต้องมีตั้งแต่การศึกษาในหลอดทดลองมาจนถึงในคน ซึ่งกว่าจะพิสูจน์จนกลายมาเป็นตัวยาได้นั้นจะใช้เวลาเฉลี่ย 12-15 ปี และลงทุน 800-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“เราต้องใช้เวลาและลงทุนขนาดนั้น เพื่อที่จะพิสูจน์ว่าสารตัวหนึ่งที่สกัดมาจากพืชตัวหนึ่งมันได้ผลจริงหรือไม่ ฉะนั้นข้อมูลทางการแพทย์สากลจึงมีอยู่ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถขึ้นทะเบียนยาที่ทำมาจากกัญชาได้เพียงกี่ตัว และต้องใช้ในข้อบ่งชี้ที่จำกัดมากๆ

“เพราะสุดท้ายผลที่ได้รับจากการศึกษาทางการแพทย์สากล พบว่ายาที่ทำมาจากกัญชาได้ประโยชน์ก็จริง แต่ได้ประโยชน์น้อยกว่ายามาตรฐานที่มีอยู่ไม่ได้เลย สุดท้ายคือใช้เพื่อเป็นทางเลือกในยามที่คนไข้อาจไม่สามารถคุมได้ด้วยยามาตรฐานแล้ว” ผศ.นพ.ธีระ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ผศ.นพ.ธีระ กังวลก็คือ กระแสโลก-กระแสสังคมไทย กลับเร่งผลักดันการใช้กัญชาทางการแพทย์โดยไม่ได้มองข้อเท็จจริงดังกล่าว กลายเป็นกระแสที่โอ้อวดสรรพคุณที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ มากไปกว่านั้นคือในประเทศไทยคนที่จะจ่ายยาจากกัญชาได้นั้น เป็นทั้งแพทย์แผนไทย แพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์ที่ผ่านการอบรมเพียงไม่กี่วัน คำถามคือทุกวันนี้ความรู้เรื่องกัญชาของทั่วโลกก็ยังไม่นิ่ง แล้วอะไรคือมาตรฐานในการใช้ของเรา

“คงไม่สามารถบอกได้ว่าประเทศไทยจะเหมือนกับเยอรมนี 100% แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเผชิญปัญหา เนื่องจากเราได้เห็นข้อมูลผลกระทบทั้งจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา และล่าสุดคือเยอรมนี ประเด็นคือประเทศไทยจะฟังข้อมูลเหล่านี้แล้วฉุกคิด เพื่อวางแผนตั้งรับ-แก้ไขปัญหาหรือไม่” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า ระบบสาธารณสุขไทยที่จะไปบังคับให้แพทย์สั่งจ่ายให้กับคนไข้นั้นมีความเสี่ยงมาก เพราะทุกวันนี้องค์ความรู้เรื่องกัญชาก็ยังไม่นิ่ง และแพทย์ก็ยังไม่ชัวร์ ถ้าใช้ไปแล้วเกิดปัญหาใครจะรับผิดชอบ ดังนั้นควรจะใช้ก็ต่อเมื่อพิสูจน์แล้วว่ามีความปลอดภัยจริง มีสรรพคุณในการรักษาจริง และใช้ภายใต้ข้อบ่งชี้จำกัดเท่านั้น

“การผลักดันโดยที่ไม่มีความชัดเจน เท่ากับว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่หายนะ แต่เป็นหายนะที่เกิดขึ้นกับใคร ตัวของคนไข้ ญาติของคนไข้ ประชาชนทั่วไป บุคลากรทางการแพทย์ หรือโดนกันถ้วนหน้า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง” ผศ.นพ.ธีระ ระบุ

อ้างอิง

1. Stärkerer Schutz des Arztes als Berufsgeheimnisträger. 122. Deutscher Ärztetag. Bundesaerztekammer (German Medical Association), 31 May 2019.

2. Hauser W et al. [Medicinal cannabis and cannabis-based medication: an appeal to physicians, journalists, health insurances, and politicians for their responsible handling]. Schmerz. 2019 Sep 2. doi: 10.1007/s00482-019-00409-0. [Epub ahead of print].