ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“สาธิต ปิตุเตชะ” มอบนโยบาย สบส. ขับเคลื่อนงาน อสม.ทั่วประเทศ ย้ำเป็นกลุ่มสำคัญ อย่าคิดว่าทำเพื่อค่าตอบแทน แต่เป็นกลุ่มจิตอาสา พร้อมแก้กม.โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินให้ปชช.ยื่นอุทธรณ์ หลังพบปัญหานิยามวิกฤตฉุกเฉิน

เมื่อวันที่  30 กันยายน 2562  นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) พร้อมด้วยทีมงาน เข้าตรวจเยี่ยมการทำงานกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) โดยมี นพ.ณัฐวุฒิ  ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดี สบส.  และมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และว่าที่อธิบดีสบส. ซึ่งจะมาแทน นพ.ณัฐวุฒิ ที่จะเกษียณเดือนกันยายน 2562 

นายสาธิต กล่าวในห้องประชุมผู้บริหารสบส. ซึ่งมีการคอนเฟอร์เร็นซ์กับทางภูมิภาค ว่า  จากการติดตามการทำงานของ สบส.ได้มีการขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวข้องหลายๆด้าน แต่สิ่งที่อยากฝาก ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของตน คือ ต้องมีธรรมาภิบาลตรวจสอบได้ ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน และต้องมีการสื่อสารอย่างมีแสนยานุภาพ อย่าสื่อสารล้มเหลว เหมือนทางพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่สื่อสารอาจไม่ประสบความสำเร็จพอ ทั้งๆที่ทำงานมาก ทำงานทุกอย่าง ดังนั้น เราต้องสื่อสารอย่างดี และทุกช่องทาง ทั้งสื่อหลัก สื่อรอง สื่อโซเชียลฯ

ในส่วนของการทำงานนั้น ที่ต้องมีการขับเคลื่อนคือ เรื่องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)  อย่าลืมว่าพวกเขาเป็นจิตอาสา ทำงานด้วยใจ อย่าเข้าใจว่าทำงานเพื่อแลกผลตอบแทนเท่านั้น เราต้องให้กำลังใจ และพัฒนาพวกเขาให้เป็นกองทัพของประเทศ ที่ทำงานในรูปแบบเครือข่าย ขณะที่เรื่องอื่นๆก็ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เช่น การสนับสนุนให้มีการจัดซื้อจัดจ้างของ รพ. ต้องเป็นไปตามระยะเวลา อย่าล่าช้า 

รวมทั้งเรื่องของการแก้ประกาศ กฎระเบียบต่างๆ ของ โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าได้ทุกที่ดีทุกสิทธิ ((Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP)  ซึ่งเป็นโครงการที่ดี แต่ยังมีปัญหาเรื่องการวินิจฉัยภาวะฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตที่เข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิฯ โดยพบว่ามีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาตามโครงการดังกล่าว 4 แสนคน แต่เข้าเกณฑ์เพียง 40,000 คน ทำให้มีการร้องเรียนเข้ามาที่สบส. 400  เคส ดังนั้น อยากให้มีการจัดทำส่วนงานอุทธรณ์คำวินิจฉัยด้วย ซึ่งต้องทำให้เสร็จเร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีแนวคิดการก่อตั้งกองทุนฌาปนกิจ และกองทุนบำนาญให้ อสม.  นายสาธิต กล่าวว่า กำลังดำเนินการ อย่างกองทุนบำนาญ อสม. เรื่องนี้ต้องรอบคอบ และขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านอธิบดี ก็ต้องมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาว่า ในส่วนของกองทุนบำนาญจะเป็นสิทธิสวัสดิการ เพื่อขวัญกำลังใจอย่างไร ซึ่งจะทำให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป  แต่คงตอบไม่ชัดว่า รายละเอียดของกองทุนจะเป็นอย่างไร ขอเวลาในการดำเนินการก่อนสักระยะ

เมื่อถามว่ากองทุนบำนาญ อสม. มีความเป็นไปได้ที่จะหักเงินของอสม.ส่วนหนึ่ง รัฐส่วนหนึ่ง ทำคล้ายๆรูปแบบกองทุนประกันสังคมหรือไม่ รมช.สธ. กล่าวว่า  ก็เป็นประโยชน์ หากสามารถให้อสม.มีส่วนร่วมได้ แต่ก็ต้องดูความรู้สึกของ อสม.ทั้งประเทศว่าคิดอย่างไร ซึ่งก็น่าจะเป็นแบบสมัครใจ ว่า หากใครสมัครใจก็จะได้อะไรพิเศษ  ซึ่งขอไปคิดรายละเอียดก่อน แต่อย่างน้อยก็อยากให้มีกองทุนสักกองทุนเพื่อเป็นสวัสดิการของ อสม.ทั้งประเทศ เพราะทุกภาคส่วนก็เห็นความสำคัญ เพียงแต่มีความยากตรง อสม.มีอายุหลากหลาย และส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป การออกแบบจึงต้องทั่วถึงและเป็นธรรม

เมื่อถามว่า อสม. บางคนอยากให้นำเงินค่าป่วยการเปลี่ยนเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อประโยชน์ในการทำงานพื้นที่แทน นายสาธิต กล่าวว่า  ในเรื่องอุปกรณ์ ความพร้อมต่างๆที่ให้อสม.ทำงานนั้น ทาง สบส. ต้องมีการสนับสนุน แต่สิ่งที่อยากได้มากกว่านั้น คือ กองทุนเพื่อเป็นสิทธิสวัสดิการ จริงๆ เดิมเคยคิดเป็นกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) แต่ก็จะติดเรื่องอายุ เพราะอสม.หลายคนอายุเกิน 60 ปีไปแล้ว จึงต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องกองทุนบำนาญจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน ส่วนกองทุนฌาปนกิจกำลังตั้งคณะกรรมการ และกำลังยื่นจดทะเบียนภายในเดือนตุลาคม 2562  ซึ่งที่ลงพื้นที่ไปส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ขอเก็บ 50 สตางค์