ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ไม่ขัดข้องหากผลักดันกม.บริจาคอวัยวะอัตโนมติ แต่ห่วงบริบทของสังคมไทย อาจต้องมีการประชาพิจารณ์หรือไม่ สิ่งสำคัญต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจในคนในสังคมมากขึ้น 

นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์

จากกรณี นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ โฆษกประจำตัวนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาและยกร่างกฎหมายให้มีการบริจาคอวัยวะในประเทศไทยเป็นระบบอัตโนมัติ โดยในระยะแรก 5-6 ปี จะเป็นการเตรียมความพร้อม และปรับให้หน่วยงานราชการที่ประชาชนไปติดต่อราชการช่วยสอบถามความประสงค์บริจาคอวัยวะ ส่วนระยะที่ 2 จึงเป็นการบริจาคอัตโนมัติ แต่ประชาชนสามารถปฏิเสธการบริจาคได้ทุกเวลานั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 นพ.วิศิษฏ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ตนไม่ขัดข้องอยู่แล้วหากจะมีคนมาบริจาคอวัยวะมากขึ้น แต่ก็ต้องศึกษาให้ดีว่าวิธีการไหนที่เหมาะกับบริบทของสังคมไทย การนำกฎหมายมาบังคับใช้บริจาคอวัยวะอัตโนมัติเข้าใจว่ามีหลายประเทศดำเนินการอยู่ แต่ในประเทศไทยยังต้องรอฟังว่าทำจริงจะเป็นไปในทิศทางไหน ซึ่งก็ต้องมีการประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นอีก

สิ่งสำคัญคือความรู้ ความเข้าใจของคนในสังคม หากออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว หากญาติเขาไม่ยอม ถามว่าแพทย์จะกล้าเก็บอวัยวะหรือไม่ อย่างกฎหมายให้มีการเขียนหนังสือแสดงความจำนงไม่ประสงค์รับการรักษาที่เป็นไปเพื่อยื้อชีวิตในวาระสุดท้าย หรือกฎหมาย Living Will ที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยวาระสุดท้ายของชีวิต แม้ผู้ป่วยเขียนหนังสือแสดงเจตนาเอาไว้แล้ว แพทย์ยังไม่กล้าทำ ต้องถามญาติอีกครั้ง

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวอีกว่า เรื่องการเก็บอวัยวะบริจาคนั้นต้องเรียนว่าในการเก็บอวัยวะบริจาคนั้นต้องทำเมื่อสมองตายแล้ว ซึ่งถือเป็นผู้ที่เสียชีวิตแล้ว แต่หัวใจยังเต้นอยู่ การพิจารณาตรงนี้ ปกติต้องผ่านหลายขั้นตอน ซึ่งแม้ว่าผู้ป่วยอยู่ในทะเบียนเป็นผู้บริจาค แพทย์ยังต้องแจ้งกับญาติ หากญาติอนุญาตก็จะต้องมีทีมแพทย์ 2 ทีมในการประเมินภาวะสมองตาย ซึ่งถือว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ละทีมทำการประเมินห่างกัน 6 ชั่วโมง แล้วค่อยเก็บอวัยวะแล้วดูว่าอวัยวะที่สามารถใช้ได้บ้าง

นพ.วิศิษฏ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ระบุว่าระยะแรกให้หน่วยงานราชการช่วยสอบถามความสมัครใจในการเป็นผู้บริจาคอวัยวะนั้น ทราบว่าที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของการต่อใบขับขี่ และบัตรประชาชนนั้น มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์มากนัก โดยทราบว่าเมื่อมีการสอบถาม หากประชาชนคนไหนสนใจ เจ้าหน้าที่ก็จะติดสัญลักษณ์สภากาชาดให้ ในส่วนนี้คิดว่าอาจจะทำให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการขยับและรณรงค์เรื่องการรับบริจาคอวัยวะมากขึ้น ประชาชนก็มีการบริจาคอวัยวะมากขึ้น อย่างปีที่ผ่านมามีบริจาคประมาณ 1 แสนราย แต่เก็บอวัยวะบริจาคได้ราวๆ 200 กว่าราย เรียนว่าวันนี้คนไทยก็ยังมีความเชื่อว่าบริจาคแล้วชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ 32

การบริจาคอวัยวะเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ ที่จะได้รับสิ่งดีๆ เป็นเครื่องตอบแทน อย่างคนที่มาบริจาคพบว่ามีอายุยืนยาวมากขึ้น เพราะเลิกพฤติกรรมเสี่ยงเกิดโรคทั้งหมดใช้ชีวิตมีสติมากขึ้น เพราะกลัวว่าอวัยวะที่บริจาคจะเอาไปใช้ไม่ได้

ด้าน นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รูปแบบการบริจาคอวัยวะอัตโนมัติ เป็นรูปแบบที่มีการใช้อยู่แล้วในหลายประเทศ อย่างเช่น สิงคโปร์ ซึ่งส่วนตัวแล้วตนเห็นด้วยและขอสนับสนุนอย่างยิ่งกับนโยบายดังกล่าว เพราะต้องเรียนว่าเรื่องการรับบริจาคอวัยวะในประเทศไทยที่ผ่านมายังมีอุปสรรคหลายอย่าง ส่วนหนึ่งคือเรื่องความเชื่อว่าหากบริจาคอวัยวะแล้วจะส่งผลให้เกิดมาชาติหน้าร่างกายจะไม่ครบ 32 นอกจากนี้มีอุปสรรค์เรื่องความรู้ ความเข้าใจในขั้นตอน กระบวนการบริจาคอวัยวะ ทำให้ที่ผ่านมาคนไทยบริจาคน้อย ในขณะที่ยังมีผู้ป่วยที่รอรับอวัยวะจำนวนมาก อย่างตนก็เป็นผู้ป่วยโรคไตที่เคยรอการบริจาคไตนานถึง 6 ปี กว่าจะได้รับการบริจาคและผ่าตัด ผู้ป่วยโรคไตบางคนต้องรอนาน 7 ปีก็มี 10 ปี ก็มี บางคนรอจนเสียชีวิตไปก่อน ดังนั้นสนับสนุนนโยบายนี้เต็มที่ เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิต

นายธนพล ดอกแก้ว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง