ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย สนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์เลือกใช้วิธีการคลอดแบบปกติหรือที่มักเรียกกันว่าคลอดธรรมชาติ ช่วยให้แม่อุ้มลูกได้ตั้งแต่นาทีแรก สร้างความผูกพัน และสามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ทันที เลี่ยงการผ่าท้องคลอดซึ่งเหมาะสำหรับรายที่จำเป็นและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงของแม่และลูก

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีการนำเสนอข่าวของประเทศจีน เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องกำหนดวันคลอดเพื่อความโชคดี โดยใช้วิธีการผ่าคลอดแทนวิธีคลอดแบบปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้ ว่า จากการศึกษาข้อมูลราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยพบว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกมีอัตราการผ่าท้องคลอดสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงประเทศไทยที่มีอัตราการผ่าท้องคลอดสูงกว่าร้อยละ 30 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้อัตราการผ่าท้องคลอดไม่ควรเกินร้อยละ 15 โดยคิดจากความจำเป็นในการผ่าท้องคลอดเพื่อช่วยชีวิตแม่และลูก

ซึ่งทางการแพทย์การผ่าท้องคลอดเป็นเรื่องจำเป็นเฉพาะในบางกรณี เช่น แม่ตัวเล็ก เด็กตัวใหญ่ แม่มีภาวะแทรกซ้อน เด็กอยู่ในท่าผิดปกติ และเด็กมีภาวะเครียดจากการขาดออกซิเจนในครรภ์ เป็นต้น การผ่าท้องคลอดในภาวะเหมาะสมนี้จะช่วยลดอันตรายของแม่และลูกได้ แต่หากในภาวะปกติที่ไม่มีข้อบ่งชี้ การผ่าท้องคลอดถือว่ามีอันตรายทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อแม่และลูกสูงกว่าการคลอดปกติผ่านช่องคลอด และจะมีแผลที่มดลูก ในท้องต่อไปรกอาจฝังตัวตรงแผลเดิม รกฝังลึก การผ่าคลอดครั้งต่อไปอาจเกิดการตกเลือดอย่างมาก มีโอกาสเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับคลอดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของมารดาในปัจจุบัน

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การคลอดแบบปกติหรือที่มักเรียกกันว่าคลอดธรรมชาติ จึงเป็นวิธีการที่ควรสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์คลอดด้วยตนเองแทนการเลือกผ่าท้องคลอด เพราะการคลอดแบบปกติ หลังคลอดแม่สามารถอุ้มลูกได้ตั้งแต่นาทีแรก สร้างสายสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น และแม่สามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ทันที ซึ่งช่วงเวลาครึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดสำคัญมาก ต้องรีบให้ลูกได้ดูดนมแม่ การให้ลูกดูดนมจะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ซึ่งจะทำให้น้ำนมหลั่งออกมามากขึ้น ยิ่งดูดช้าฮอร์โมนก็หลั่งช้า แม่ที่คลอดลูกแบบปกติจึงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า เพราะในการผ่าท้องคลอด แม่ต้องดมยาสลบ อาจจะไม่สามารถอุ้มและให้นมลูกได้ทันที

“ทั้งนี้ แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์เลือกใช้วิธีการคลอดแบบปกติให้มากขึ้นคือต้องให้ความรู้กับบุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชนทั่วไปรับรู้ถึงข้อดี ข้อเสียของการผ่าท้องคลอด ซึ่งจะเป็นทางเลือกที่ดีและมีประโยชน์อย่างมากหากช่วยชีวิตแม่และลูกได้ในกรณีที่จำเป็น แต่ควรทำเฉพาะรายที่จำเป็นและมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การเตรียมตัวตั้งแต่ตั้งครรภ์ การดูแลจิตใจที่ดีระหว่างการตั้งครรภ์จนถึงกระบวนการคลอดก็จะช่วยลดอัตราการผ่าท้องคลอดลงได้มากเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินโครงการโรงเรียนพ่อแม่ เพื่อแนะนำในการดูแลส่งเสริมสุขภาพหญิงตั้งครรภ์ และส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์ เรียนรู้วิธีปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์จนถึงการเตรียมตัวก่อนคลอด แนะนำการ เข้าห้องคลอดเพื่อลดความวิตกกังวล รวมถึงส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ลูกมีสุขภาพที่ดี มีพัฒนาการสมวัย และช่วยให้แม่เลี้ยงลูกได้เต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น