เลขาธิการแพทยสภา ให้คำแนะนำบริจาคเครื่องมือแพทย์ แนะนับ 1 - 4 ก่อนบริจาคเครื่องมือแพทย์ให้โรงพยาบาล ป้องกันการบริจาคไม่ตรงความต้องการ หรือไม่สามารถงานใช้งานได้ สุดท้ายอาจเปล่าประโยชน์ ไปอยู่ใต้บันได
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวถึงปัจจุบันมีผู้ใจบุญบริจาคเครื่องมือแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆ ให้กับโรงพยาบาลรัฐที่ขาดแคลน ว่า ช่วงที่ผ่านมามีคนเห็นใจโรงพยาบาล และบริจาคเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นให้กับโรงพยาบาลรัฐที่จำเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อไปบริจาคก็มักพบว่าจะให้ความสำคัญกับสิ่งของที่ไม่ตรงกับโรงพยาบาลต้องการ ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีความต้องการไม่เท่ากัน เมื่อบริจาคแล้ว บางแห่งใช้ไม่ได้ เช่น การซื้อเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้กับทาง รพ.ตามชายแดน ซึ่งตัวเครื่องนี้จำเป็นต้องมีการใช้แบตเตอรี่ หากแบตเตอรี่หมด ในพื้นที่ห่างไกลจะไม่มีบริษัทมาส่งแบตเตอรี่ได้ หากจะซื้อก็ต้องมีเรื่องค่าใช้จ่ายด้านขนส่งอีก
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวอีกว่า อีกประเด็นคือ เวลาไปให้อุปกรณ์ใดก็ต้องไปดูว่ามีคนใช้เป็นหรือไม่ เช่น เครื่องล้างไต แต่ต้องมีการทำระบบ มีเจ้าหน้าที่มารองรับด้วย รวมไปถึงเครื่องมอนิเตอร์ในห้องฉุกเฉิน ปัจจุบันเป็นออนไลน์ก็ต้องไปดู รพ.ว่ามีการจัดระบบหรือไม่ ดังนั้นการจะบริจาคอะไรให้ยั่งยืน ขอให้ไปดูระบบโรงพยาบาลก่อนด้วย จึงอยากให้ข้อคิด 4 ข้อ ดังนี้
1. อย่าบริจาคเพียงเพราะเราอยากให้ แต่ต้องตรวจสอบ คุยกับผู้รับ ว่าโรงพยาบาลมีความต้องการและอยากได้จริงหรือเปล่า คนไข้จะได้ประโยชน์จริงไหม
2. เครื่องมือแพทย์แต่ละอย่างต้องมีหมอ หรือพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่ใช้เป็น และเรียนมาโดยเฉพาะต้องตรวจสอบว่ามีหรือไม่ก่อนบริจาค เขามีคนใช้เครื่องมือจริง แล้วได้ประโยชน์ และมีพื้นที่ อาคาร หน่วย ระบบ ตั้งรองรับ แล้ว
3. เครื่องมือแพทย์แต่ละเครื่อง ปัจจุบันเป็นคอมพิวเตอร์ Network อาจ ต้องมีการต่อเชื่อมกับระบบของโรงพยาบาลได้ ในเครือข่ายเดียวกัน การบริจาค ต้องศึกษาระบบของโรงพยาบาลเสียก่อน หากให้โดยเชื่อมต่อไม่ได้จะมีประโยชน์น้อย หรืออายุการใช้งานสั้น ดังนั้นต้องทราบระบบ
4. เครื่องมือแพทย์ควรจะใช้ได้อายุยาวนาน ดังนั้นการซ่อมบำรุง ต้องมีบริษัทเข้าไปดูแลให้ ต้องตรวจสอบเสียก่อน ว่าโรงพยาบาลที่มอบให้นั้นมีตัวแทนบริษัทมาดูแลหรือเปล่า ในอำเภอนั้น จังหวัดนั้น มิฉะนั้น เมื่อเสียจะไม่มีใครซ่อม เราจะซ่อมแล้วอะไหล่อุปกรณ์น้ำยา โรงพยาบาลต้องจัดซื้อได้ หรือเป็นร่วมกับอุปกรณ์ตัวเดิม ที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาล จะได้ดูแลร่วมกันได้ ไม่ควรใช้ยี่ห้อใหม่ที่คนในโรงพยาบาลไม่คุ้นเคย
“ทั้ง 4 ข้อนี้ เพื่อป้องกันมิให้เครื่องมือที่บริจาคไปซ่อมไม่ได้เมื่อยามเสีย หรือไม่มีอะไหล่ ไม่มีน้ำยาที่ใช้ได้ อุปกรณ์สั่งซื้อไม่ได้ ไม่มีแบตเตอรี่สำรอง ไม่มีกระดาษพิเศษที่ใช้ สุดท้ายต้องไปอยู่ใต้บันได เสียดายเงินที่บริจาค อย่าซื้อเครื่องมือเดียวกันในยี่ห้อที่ถูก โดยมองเพียงราคา เพื่อให้บริจาคได้หลายๆ ชิ้นกว่า แต่ต้องมองว่า เครื่องไหนใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์ระยะยาว แบบยั่งยืนกับโรงพยาบาล ถ้านับไม่ถึง 4 อย่าเพิ่งบริจาคนะ หรือที่สำคัญให้โรงพยาบาลจัดหาเองในสิ่งที่เขาต้องการ หรือเข้ามูลนิธิ เพื่อรวบรวมให้ได้สิ่งที่เขาต้องการจะดีที่สุดครับ แล้วยังหักภาษีได้ด้วย” เลขาธิการแพทยสภา กล่าว
ขอบคุณภาพจาก facebook นพ.อิทธพร คณะเจริญ
- 157 views