ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 18 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวัน "หมดประจำเดือน" โลก เพื่อหวังจะสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะหมดประจำเดือนในสตรี

วัยหมดประจำเดือนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของสตรี

แม้บางคนจะไม่มีอาการใดๆ แต่ก็มีสตรีจำนวนมากที่มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น ร้อนวูบวาบตามตัว หงุดหงิดง่าย ฯลฯ จนไม่สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

Cochrane Collaboration ได้สรุปงานวิจัยต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเผยแพร่ในวันดังกล่าว สาระสำคัญมีดังนี้

หนึ่ง มาตรฐานการรักษาอาการจากภาวะหมดประจำเดือนยังคงเป็นการใช้ฮอร์โมน และมีการพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าช่วยลดอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืนในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้จริง

สอง ไม่มีหลักฐานที่ดีเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า การฝังเข็มจะช่วยรักษาอาการในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้ ทั้งนี้มีการเปรียบเทียบระหว่างการฝังเข็มกับการฝังเข็มแบบหลอก (Sham acupuncture) พบว่าผลที่ได้ไม่แตกต่างกันเลย แม้มีงานวิจัยที่เปรียบเทียบพบว่าการฝังเข็มจะดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย แต่ผลที่ได้ก็น้อยกว่าการรักษาด้วยฮอร์โมนอย่างชัดเจน

สาม ไม่มีหลักฐานที่ดีเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า สมุนไพรจีนจะช่วยรักษาอาการในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้ ไม่มีงานวิจัยเปรียบเทียบสมุนไพรจีนกับยาหลอก หรือยามาตรฐาน และไม่มีรายงานเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์และความปลอดภัยที่ดีพอ

สี่ การออกกำลังกายไม่ได้ช่วยลดอาการร้อนวูบวาบและเหงื่อออกตอนกลางคืนในสตรีวัยหมดประจำเดือน

ห้า การรักษาด้วยการกินฮอร์โมน ทั้งประเภทเอสโตรเจน และประเภทรวมระหว่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนั้น ไม่ได้ทำให้น้ำหนักเพิ่มหรืออ้วนขึ้น

หก การที่มีกระแสกลัวยาฮอร์โมน แล้วหันไปหา เอสโตรเจนที่สกัดจากพืช ที่เรียกว่า Phytoestrogen นั้น งานวิจัยที่มีอยู่ได้พิสูจน์พบว่า ไม่มีหลักฐานว่าจะทำการรักษาอาการต่างๆ ในวัยหมดประจำเดือนได้ ยกเว้น สารจากถั่วเหลืองที่ชื่อว่า Genistein ที่มีงานวิจัยขนาดเล็กพบว่าอาจช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้บ้าง แต่หลักฐานนี้ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเป็นจะต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

เจ็ด การเพิ่มฮอร์โมนเพศชายหรือเทสโทสเตอโรนเข้าไปร่วมกับยาฮอร์โมนมาตรฐาน จะช่วยเรื่องปัญหาด้านเพศสัมพันธ์ได้ แต่จะมีผลข้างเคียงคือ สิว ขนมากขึ้น และลดไขมันดีประเภท HDL

ดังนั้นในทางคลินิก เวลาเราให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว และการรักษาใดๆ แก่ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติจากภาวะหมดประจำเดือน จึงควรให้คำแนะนำตามหลักวิชาการที่ดี

Happy Menopause Day...18th October

อ้างอิง

Cochrane Collaboration: Gynecology and Fertility Group, 2019.

ผู้เขียน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง