ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การเภสัชกรรมผลิตชุดตรวจคัดกรองสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช และชุดตรวจหาชนิดสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวัง ตรวจสอบและติดตามการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดแมลงในผัก ผลไม้ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

จากผลการตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ ประจำปี 2562 ของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน ให้ข้อมูลว่า จากการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้ ตั้งแต่ 25 มีนาคม – 5 เมษายน 2562 ณ ห้างโมเดิร์น เทรดชั้นนำ รวมไปถึงตลาดสดในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศอีก 15 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ยโสธร สระแก้ว จันทบุรี ราชบุรี และสงขลา โดยแบ่งเป็นผัก 15 ชนิด ชนิดละ 12 ตัวอย่าง (ยกเว้นกระเทียมจีนที่เก็บเพียง 10 ตัวอย่าง) รวม 178 ตัวอย่าง เช่น กวางตุ้ง คะน้า กะเพรา พริก กะหล่ำดอก ผักชี มะเขือเปราะ เป็นต้น และผลไม้อีก 9 ชนิด ชนิดละ 12 ตัวอย่าง รวม 108 ตัวอย่าง เช่น ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง องุ่น มะละกอสุก แก้วมังกร แอปเปิล มะม่วงสุก และกล้วยหอม รวมทั้งสิ้นเป็นผักและผลไม้จำนวน 287 ตัวอย่าง ก่อนจะส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO-17025 ที่สหราชอาณาจักร

ผลการวิเคราะห์พบว่าในประเภท “ผัก” 178 ตัวอย่าง มีจำนวนตัวอย่าง 40% ที่มีสารเคมีตกค้างเกินกว่ามาตรฐาน 16% พบสารเคมีตกค้างแต่ไม่เกินมาตรฐาน และ 44% ไม่พบสารเคมีตกค้าง ในรายละเอียดผักที่พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานในตัวอย่างมากที่สุดคือ กวางตุ้ง พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน 10 ตัวอย่าง รองลงมาคือคะน้า กะเพรา ผักชี พริก กะหล่ำดอก ผักชี ขณะที่ประเภท “ผลไม้” ที่พบการตกค้างมากที่สุดคือ ส้ม ที่พบสารเคมีตกค้างในทุกตัวอย่าง รองลงมาคือ ชมพู่ ฝรั่ง องุ่น โดยพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน และถ้าเปรียบเทียบระหว่างผักและผลไม้ที่ปลูกในประเทศกับผลไม้นำเข้าพบว่า ผลไม้นำเข้าพบการตกค้าง 33.3% แต่ที่ผลิตในประเทศพบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 48.7% ทั้งนี้มีสารพิษกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมากที่สุด คือ สารฆ่าเชื้อรา รองลงมา คือ ไซเปอร์เมทริน อิมิดาคลอร์ฟริด เอซอกซิสโตรบิน คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นสารพิษที่กระทบสมองของเด็ก อีกทั้งยังพบสารคาร์เบนดาซิม (carbendazim) เมทามิโดฟอสคาร์โบฟูราน อีกด้วย

จากการศึกษา พบว่า น่าจะมาจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ก่อนระยะเก็บเกี่ยว หลังจากการใช้สารพิษกำจัดแมลงทำให้สารพิษยังสลายตัวไม่หมด การใช้สารพิษกำจัดแมลงในปริมาณมากเกินจำเป็น หรือใช้ร่วมกันหลายชนิด และพื้นที่เพาะปลูกที่ใช้สารเคมี มีสารพิษตกค้างอยู่ในดินและน้ำ ซึ่งจะสะสมอยู่ในผักผลไม้ที่ปลูก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุรอบ 10 เดือน (ต.ค. 2561-ก.ค. 2562) มีผู้ป่วยจากพิษสารเคมีปราบศัตรูพืชเข้ารักษา 3,067 ราย เสียชีวิต 407 ราย ปี 2559-2561 เจ็บป่วยเฉลี่ยปีละกว่า 4 พันกว่าราย ปี 2559-2562 เสียชีวิต 2,193 ราย

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์

จากปัญหาดังกล่าว นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่าองค์การเภสัชกรรม มีความห่วงใย ใส่ใจผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของสุขภาพอนามัยของประชาชน หวังที่จะให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขเองก็ได้มีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง และลงพื้นที่ตรวจสอบสารปนเปื้อนในพืชผัก ผลไม้ เพื่อป้องกันและลดปริมาณสารปนเปื้อนในผัก ผลไม้ให้เป็นไปตามมาตรฐาน อยู่เป็นประจำ เพราะหากมีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐานจะมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรผู้ปลูก และผู้บริโภค รวมถึงถ้าได้รับสารเคมีสะสมเป็นเวลานานๆ จะทำให้เกิดพิษต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือดในกรณีรุนแรง

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อว่า องค์การเภสัชกรรมจึงได้ผลิต “ชุดตรวจคัดกรองสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช 2 กลุ่ม (GPO-M Kit) และชุดตรวจหาชนิดสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช 4 กลุ่ม (GPO-TM Kit) โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นำไปเฝ้าระวัง ตรวจสอบและติดตามการปนเปื้อนของสารเคมีกำจัดแมลงในผัก ผลไม้ สำหรับชุดตรวจคัดกรองสารเคมีกำจัดแมลงในผักผลไม้และธัญพืช (GPO-M Kit) ใช้ตรวจสารเคมีแมลง 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต และกลุ่มคาร์บาเมต และชุดตรวจหาชนิดสารเคมีกำจัดแมลงในผัก ผลไม้ และธัญพืช (GPO-TM Kit) ใช้ตรวจสารเคมีแมลง ได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต กลุ่มคาร์บาเมต กลุ่มออร์กาโนคลอรีน และกลุ่มไพรีทรอยด์ ในการสุ่มตรวจตามด่านอาหารและยา รวมถึงตลาดสด และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคต่อไป