ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“รพ.รามาธิบดี” เดินหน้า ใช้ “เครื่องอัลตราซาวด์ไร้สาย” 200 เครื่อง เสริมการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ปี 2- 6 ร่วมกับการดู คลำ ฟัง เคาะ เพื่อการตรวจวิเคราะห์โรค เพิ่มเติมกับการเรียนสรีระเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพทย์ ย้ำ ตรวจได้ทุกจุด “หมอฉุกเฉิน” ปลื้ม ช่วยตรวจดูแลผู้ป่วยก่อนส่งถึง รพ.

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 ที่รพ.รามาธิบดี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รศ.นพ.สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ รศ.นพ.ไชยพร ยุกเซ็น หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาฯ และ นางสาวพรลภัส เชนวรรณกิจ นักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 6 ร่วมกันแถลงข่าว นวัตกรรมการเรียนการสอนทางการแพทย์ : “Ultrasound พกพาชนิดไร้สายสำหรับนักศึกษาแพทย์ยุคดิจิทัล”

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ในการตรวจวิเคราะห์อาการของผู้ป่วยปกติแพทย์จะใช้หลักการดู คลำ เคาะ ฟัง และใช้เครื่องอัลตราซาวด์ในการตรวจวิเคราะห์โรค เพราะการอัลตราซาวด์จะทำให้เห็นอวัยวะภายในได้ ซึ่งปกติเครื่องอัลตราซาวด์จะมีขนาดใหญ่ ทำให้เคลื่อนย้ายลำบาก แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องอัลตราซาวด์ชนิดไร้สาย สามารถพกพาสะดวกต่อการตรวจผู้ป่วยมากขึ้น โดยหลักการใช้งานก็เหมือนกับเครื่องอัลตราซาวด์ปกติที่นำเครื่องมือไปจ่อตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายทำให้สามารถเห็นการทำงานของทุกอวัยวะ อาทิ หัวใจ ลิ้นหัวใจ ต่อมไทรอยด์ ตรวจเส้นเลือดดำ เส้นเลือดแดงได้ เป็นต้น จากนั้นเครื่องดังกล่าวจะส่งข้อมูลเข้าไปยังระบบโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของแพทย์

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ทาง รพ.รามาฯ ได้รับบริจาคเงิน 12 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องอัลตราซาวด์ชนิดไร้สายจำนวน 200 เครื่อง เพื่อมาใช้ในระบบการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2- 6 โดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2-5 จะได้รับเครื่องมือดังกล่าว 1 เครื่องต่อ 2 คน ส่วนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายจะได้รับคนละ 1 เครื่อง เพื่อเสริมการตรวจวิเคราะห์ อุปกรณ์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เสริมการเรียนควบคู่ไปกับการดูคลำ เคาะ ฟัง เพิ่มเติมกับการเรียนสรีระเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของแพทย์ โดยเริ่มใช้แล้ว ทั้งนี้จะมีการประเมินผล ก่อนจะตัดสินใจว่าจัดซื้อเครื่องอัลตราซาวด์ไร้สายเพิ่มหรือไม่ โดย รพ.รามาฯ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่มีการนำเครื่องอัลตราซาวด์ชนิดไร้สายเข้ามาใช้ในระบบการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์

“เครื่องอังตราซาวด์ชนิดไร้สายจะเข้ามาเสริมการทำงาน โดยสามารถตรวจได้ทุกอวัยวะ ดูการเต้นของหัวใจ ดูลิ้นหัวใจ ยอมรับว่าเรื่องคุณภาพ ความละเอียดอาจจะสู้เครื่องอัลตราซาวด์ขนาดใหญ่ไม่ได้ แต่ก็ถือว่าคุณภาพดี เครื่องนี้จะทำให้แพทย์สามารถตรวจวิเคราะห์โรคได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการตรวจวิเคราะห์ในกลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งต้องการความรวดเร็วและวิเคราะห์ให้ตรงจุดมากที่สุด” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว

รศ.นพ.ไชยพร กล่าวว่า ปัจจุบัน ห้องฉุกเฉินของ รพ.ทุกแห่งต้องมีการใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อช่วยในการวินิจฉัยอยู่แล้ว การที่มีเครื่องมืออัลตราซาวด์ไร้สาย จะช่วยให้สามารถตรวจวิเคราะห์ผู้ป่วยได้ก่อนจะถึง รพ.ได้อีกทางหนึ่ง ดังนั้นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้สำหรับการเรียนการสอนก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการฝึกอบรมด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ และจะเป็นต้นแบบการฝึกอบรมของสถาบันอื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป

ด้าน นางสาวพรลภัส กล่าวว่า จากการใช้เครื่องมือนี้มา 1 เดือนในแผนกฉุกเฉิน ทำให้สะดวกในการวินิจฉัยอาการโดยไม่ต้องรอคิว เข็นเตียงผู้ป่วยเพื่อมาใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ขนาดใหญ่ ทำให้ไม่เสียเวลาในขั้นตอนนี้เป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุก็สามารถใช้เครื่องนี้หาสาเหตุที่สงสัยได้เร็ว เช่น ภาวะ ปอดรั่ว ปอดแตก ภาวะน้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ ที่อาจจะทำให้เสียงชีวิตได้ หากวินิจฉัยได้เร็วและแม่นยำก็สามารถทำหัตถการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที