ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองทุนบัตรทอง ปี 63 สานต่อความสำเร็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมหนุนยุทธศาสตร์ชาติ ยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 นำร่อง “บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” ในหน่วยบริการ 51 แห่งใน 21 จังหวัด ดูแลกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม ทุกสิทธิการรักษา 2,000 ราย พร้อมติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ความสำเร็จในการควบคุมและป้องกันปัญหาเอดส์ของประเทศไทยได้รับการยกย่องและชื่นชมจากนานาประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการดำเนินสิทธิประโยชน์การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) ที่ได้เริ่มต้นในปี 2548 และตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านเอดส์อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งการรักษา กำกับติดตาม คัดกรองโรคและการส่งเสริมป้องกัน อาทิ การให้ยาต้านไวรัสครอบคลุมทั้งสูตรพื้นฐานและสูตรดื้อยา การให้ยาต้านไวรัสโดยไม่จำกัด CD4 การให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก บริการคัดกรองวัณโรคในผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ การให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชวีโดยสมัครใจ เป็นต้น

ในปีงบประมาณ 2563 เพื่อสานต่อความสำเร็จของโครงการในพระดำริของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติในการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ.2560-2573 ในการลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ กองทุนบัตรทองได้นำร่องสิทธิประโยชน์ “บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัส” (PRE-EXPOSURE PROPHYLAXIS : PrEP) ใช้งบประมาณกองทุนบริการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เบื้องต้นกำหนดเป้าหมายบริการ จำนวน 2,000 ราย ในกลุ่มเสี่ยงทุกกลุ่ม ครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิ ได้แก่ กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สตรีข้ามเพศ พนักงานบริการ (ชาย/หญิง) ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ซึ่งต้องเป็นผู้รับบริการายใหม่ที่ไม่เคยได้รับบริการ PrEP มาก่อน บริการที่ได้รับ รวมตั้งแต่การให้ความรู้และคำปรึกษา การให้ยาต้านไวรัสและอุปกรณ์เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การตรวจและติดตามผล รวมถึงการรักษากรณีพบการติดเชื้อ เป็นต้น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การดำเนินการเป็นความร่วมมือกับกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค โดยคัดเลือกหน่วยบริการเพื่อนำร่องบริการ 51 แห่ง ใน 21 จังหวัด โดยต้องเป็นหน่วยบริการภายใต้กองทุนบัตรทองที่เคยให้บริการ PrEP มาก่อน มีความพร้อมบริการทั้งในด้านบุคลากร ห้องปฏิบัติการ และระบบบริการ ใช้กระบวนการ RRTTR (Reach, Recruit, Test, Treat, Retain) หน่วยบริการจะบันทึกข้อมูลการให้บริการ PrEP และติดตามผลการจัดบริการ ผ่านโปรแกรม NAP (National Aids Program) ที่เป็นระบบบริการข้อมูลสารสนเทศเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์

“ขณะนี้ยังอยู่ในระยะแรกของสิทธิประโยชน์ PrEP ที่เป็นการนำร่อง ระบบยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ และประชากรกลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศ เนื่องจากยังมีข้อกังวลถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐศาสตร์ การระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ รวมถึงพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น ทำให้ยังต้องมีการติดตามและประเมินผลการจัดบริการและผลกระทบอย่างรอบด้านก่อน ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการประเมินผลควบคู่โดยทีมนักวิชาการจาก The London School of Hygiene & Tropical Medicine และนักวิชาการที่ทำงานด้านเอดส์ของไทย ก่อนที่จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมต่อไป”

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีของไทยในปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณปีละ 6,300 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 15 ราย ขณะที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณวันละ 40 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสมราว 4.4 แสนราย แม้ว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่กว่า 3 แสนรายจะมีระบบหลักประกันสุขภาพดูแลแล้ว แต่การจะยุติปัญหาเอดส์ได้นั้นจะต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ การจัดบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ น่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่เข้ามามีส่วนแก้ปัญหาได้ ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นที่เป็นความสำเร็จภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ