ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หนุนตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในหญิงทุกกลุ่มวัย ระบุ หากนโยบายชัด คาดใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน สามารถเตรียมห้องปฏิบัติการรองรับตรวจหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมดได้

นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวสนับสนุนแนวคิดการเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองภาวะดาวน์ซิมโดรมแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย ภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ สปสช. ว่า ถ้ามีงบประมาณเพียงพอ โดยเฉพาะหากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สมควรจะขยายสิทธิการคัดกรองภาวะดาวน์ซิมโดรมให้ครอบคลุมหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย

นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า แม้ว่ากลุ่มเสี่ยงการคลอดบุตรมาเป็นดาวน์ซินโดรมจะอยู่ที่หญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี นับเป็นกลุ่มคนตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ คิดเป็น 2 ใน 3 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ขณะที่เด็กดาวน์ซินโดรมก็เกิดจากหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มากกว่า

“แม้ว่าหญิงตั้งครรภ์อายุต่ำกว่า 35 ปี จะมีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่จำนวนการตั้งครรภ์มีมากกว่า จึงทำให้จำนวนเด็กที่เป็นดาวน์ซินโดรมมีมากกว่า” นพ.สมฤกษ์ กล่าวและว่า จึงมีความจำเป็นขยายการคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย สอดคล้องกับความต้องการของสูตินรีแพทย์ที่อยากให้มีการตรวจคัดกรองในหญิงกลุ่มนี้ด้วย

นพ.สมฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมามีการกำหนดให้ใช้วิธีการตรวจเลือดด้วยเทคนิควิธีตรวจสารเคมี 4 ตัว เมื่อคณะกรรมการกำหนดวิธีนี้มา ทางกรมวิทย์ฯ ก็ได้ประสานไปยังสถาบันต่างๆ ที่มีศักยภาพในการตรวจไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากมีการขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย ก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมหน่วยบริการเพื่อรองรับด้วย

“สำหรับการตรวจอยู่ในวิสัยที่จะเตรียมได้หากมีความชัดเจนทางนโยบาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจัดระบบโรงพยาบาลเพื่อที่จะให้คำปรึกษาในการตรวจ การให้ความรู้ ตลอดจนข้อมูลประกอบการวินิจฉัย เป็นหน้าที่ของกรมอนามัยซึ่งก็ต้องมีความพร้อมเช่นเดียวกัน” นพ.สมฤกษ์ กล่าว

นพ.สมฤกษ์ กล่าวว่า การให้คำปรึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์สามารถทำได้ในทุกหน่วยบริการ-ทุกโรงพยาบาล เช่นเดียวกับการเจาะเลือดให้หญิงตั้งครรภ์ก็ทำได้ทุกโรงพยาบาล ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้น แม้ว่าจะไม่มีอยู่ในทุกโรงพยาบาล แต่ห้องปฏิบัติการที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศนั้น ก็มีศักยภาพเพียงพอจะรองรับในกรณีที่โรงพยาบาลส่งต่อมาให้ตรวจ

“ตอนนี้เราเซ็ตเอาไว้สำหรับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป สามารถดำเนินการได้ไม่มีปัญหา แต่ในกลุ่มนี้คิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ฉะนั้นหากขยายสิทธิให้ครอบคลุมจริงๆ แน่นอนว่าภาระงานย่อมมีมากขึ้น เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการให้มากขึ้น แต่ทั้งหมดนี้ยืนยันว่าอยู่ในวิสัยที่ทำได้ คิดว่าใช้เวลาเตรียมความพร้อมไม่เกิน 3 เดือนก็สามารถรองรับหญิงทุกกลุ่มวัยได้อย่างแน่นอน” นพ.สมฤกษ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สูตินรีแพทย์’ หนุนบัตรทองขยายสิทธิคัดกรอง ‘ดาวน์ซินโดรม’ ในแม่ทุกช่วงอายุ

เด็กดาวน์ซินโดรม 80% เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 35 ปี หนุนขยายสิทธิคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย

ยืนยันคัดกรองดาวน์ซินโดรมหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัยคุ้มค่า ลงทุน 1 บ.ได้ผลตอบแทนมากถึง 18 บ.