ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพแรงงานบุคลากรสาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าตอบแทน 5% และเพิ่ม “โบนัส” ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกเรียก “Standby” ล่วงหน้าในเวลากระชั้นชิด รวมถึงเรียกร้องให้ลดภาระงานประจำของบุคลากรกลุ่มนี้ เนื่องจากทำงานหนักเกินไป

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา บุคลากรสาธารณสุข จาก 119 หน่วยงาน และโรงพยาบาล 83 แห่งทั่วเนเธอร์แลนด์ นัดหยุดงาน ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ และต้องยกเลิกนัดหมายคนไข้ทั้งหมด

ทั้งนี้ ถือเป็นการนัดหยุดงาน “สไตรค์” ครั้งแรกของเนเธอร์แลนด์ หลังจากการเจรจากับรัฐบาลล้มเหลวเมื่อหลายเดือนก่อน สหภาพแรงงานเนเธอร์แลนด์คาดการณ์ว่าน่าจะกระทบผู้ป่วยทั้งหมดราว 2 หมื่นคน จากการนัดหยุดงานครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ห้องฉุกเฉิน ยังคงให้บริการตามปกติ

“การนัดหยุดงาน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักในแวดวงสาธารณสุข” โฆษกสหภาพบุคลากรสาธารณสุขระบุ พร้อมกับบอกอีกว่า โดยปกติพวกเขา มักจะนึกถึงคนไข้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่นัดหยุดงาน นั่นหมายความว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติมากๆ

สหภาพแรงงานเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าตอบแทน 5% และเพิ่ม “โบนัส” ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ถูกเรียก “Standby” ล่วงหน้าในเวลากระชั้นชิด รวมถึงเรียกร้องให้ลดภาระงานประจำของบุคลากรกลุ่มนี้ เนื่องจากทำงานหนักเกินไป

นอกจากนี้ สหภาพแรงงานยังระบุว่า ค่าตอบแทนที่สูงขึ้นและสภาพการทำงานที่ดีขึ้นจะช่วยให้ “สายอาชีพ” เหล่านี้ มีความน่าสนใจมากขึ้น ในเวลาเดียวกับที่เนเธอร์แลนด์ กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำใหคนไข้ล้นโรงพยาบาล และมีการประมาณการณ์ว่า เนเธอร์แลนด์ จะขาดแคลนบุคลากรสายสุขภาพอย่างน้อย 1 แสนคน ในปี 2565

ก่อนหน้านี้ สมาพันธ์โรงพยาบาลของเนเธอร์แลนด์ ได้เสนอว่าจะขึ้นค่าตอบแทนให้บุคลากรสาธารณสุขเนเธอร์แลนด์อีกราว 3% และจะเป็นผู้จ่ายค่าประกันสุขภาพให้กับบุคลากรสาธารณสุขแทน แต่สหภาพแรงงาน ยังไม่มีการตอบสนอง

สำหรับงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นตามที่สหภาพบุคลากรสาธารณสุขเรียกร้องนั้น สมาพันธ์โรงพยาบาล คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 950 ล้านยูโร (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) โดยมากกว่าข้อเสนอของพวกเขาราว 200 ล้านยูโร (ประมาณ 6,600 ล้านบาท)

ทั้งนี้ โรงพยาบาลยืนยันว่า หากจะขึ้นงบประมาณตามนั้นได้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องสนับสนุนงบประมาณเพิ่ม เพราะด้วยศักยภาพโรงพยาบาล ไม่มีทางที่จะหาเงินได้มากขนาดนั้น

ขณะที่หนังสือพิมพ์ Financieele Dagblad หนังสือพิมพ์ธุรกิจเนเธอร์แลนด์ เขียนบทวิเคราะห์ระบุว่า ทางเดียวที่โรงพยาบาลของเนเธอร์แลนด์จะเอาตัวรอด และสามารถซื้อใจบรรดาบุคลากรสาธารณสุขเหล่านี้ คือต้องหารายได้เพิ่มขึ้น และกระจายงานบางอย่างซึ่งค่าใช้จ่ายสูงไปยัง “คลินิก” ที่เล็กกว่า หรือโอนบริการบางอย่างไปยังแพทย์ประจำครอบครัว เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดบุคลากร และลดภาระงานในโรงพยาบาล

บทความในหนังสือพิมพ์ ยังเสนออีกว่า โรงพยาบาลต้องหาทางลดแรงกดดันต่อพนักงานซึ่งเป็นหนึ่งในข้อร้องเรียนหลักของพวกเขา และหากยังปล่อยให้ระบบยังเป็นแบบนี้ ก็จะมีปัญหาเรื่องบุคลากร รวมถึงเรื่องงบประมาณต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ในไม่ช้า

ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ ถือเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขดีเป็นลำดับต้นๆ ของยุโรป และของโลก โดยเพิ่งมีการปฏิรูประบบสุขภาพครั้งใหญ่ไปเมื่อปี 2549 ซึ่งรัฐบาล กำหนดให้ชาวดัตช์ทุกคน ต้องซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน โดยเสียค่าใช้จ่ายราว 100 – 120 ยูโร (ประมาณ 3,300 – 4,000 บาท) ซึ่งรัฐบาล จะเป็นผู้กำหนดสิทธิประโยชน์ และการบริการ รวมถึงควบคุมเพดานค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินไป เพื่อให้ชาวดัตช์ สามารถเข้าถึงประกันสุขภาพได้

โดยบริษัทประกันภัยได้รับเงินทุนจากกองทุนของรัฐ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่บริการสุขภาพปฐมภูมิ การแพทย์ฉุกเฉิน และการดูแลระยะยาว โดยรัฐกำหนดให้บริษัทประกันสุขภาพเอกชนต้องเสนอในราคาคงที่ รวมถึงเป็นเรื่องผิดกฎหมายสำหรับบริษัทประกัน ในการปฏิเสธความคุ้มครอง หรือเก็บเงินคนไข้เพิ่ม ในโรคที่ค่าใช้จ่ายสูง

นอกจากนี้ แพคเกจประกันภัยส่วนใหญ่อนุญาตให้ผู้ป่วยเลือกได้ว่าต้องการรับการรักษาแบบใด โดยรัฐบาลได้จัดทำเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูล (Zorginzicht) และเปิดเผย (KiesBeter) เกี่ยวกับประสิทธิภาพของผู้ให้บริการ โดยผู้ป่วยที่ไม่พอใจกับการประกันสุขภาพของพวกเขาสามารถเปลี่ยนไปเลือกแพคเกจประกันอื่นในตอนท้ายของแต่ละปี

ปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์ อยู่ที่ประมาณ 5,803 ยูโร ต่อคนต่อปี (ประมาณ 1.9 แสนบาท) หรือคิดเป็น ราว 17% ของจีดีพี ทั้งหมดนี้ อาจดูเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร พบว่า ประชาชนชาวดัตช์ ยังยินดีที่จะจ่าย และยังคงมีระดับความพึงพอใจต่อระบบสุขภาพของประเทศในระดับที่ดี

แปลและเรียบเรียงจาก

1.Hospital and clinic workers go on strike over pay and working pressure [www.dutchnews.nl]

2.Dutch hospitals close down as workers strike for higher pay [www.reuters.com]

3.Healthcare in the Netherlands: A guide to the Dutch healthcare system [transferwise.com]