ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ มช. ยืนยัน คัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัยคุ้มค่า ลงทุน 1 บาท ได้ผลตอบแทนมากถึง 18 บาท ย้ำการคัดกรองไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ แต่ทำเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล สามารถวางแผนชีวิตได้

รศ.นพ.ชเนนทร์ วนาภิรักษ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรมให้แก่หญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัยนั้น ถือเป็นมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางเศรษฐานะของแต่ละครอบครัวที่ทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงการคัดกรองดังกล่าว

“แนวโน้มก็คือคนรวยจะเข้าถึงบริการที่ดี คือคัดกรองด้วยการตรวจดีเอ็นเอลูกในเลือดแม่เลย โดยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 บาท วิธีนี้จะปิดโอกาสการมีบุตรเป็นดาวน์ซินโดรมเลย แต่ในกรณีของผู้มีรายได้น้อยก็จะเข้าไม่ถึงการคัดกรอง ฉะนั้นจะพบว่าภาวะดาวน์ซินโดรมก็จะเกิดกับคนจนมากกว่า” รศ.นพ.ชเนนทร์ กล่าว

รศ.นพ.ชเนนทร์ กล่าวอีกว่า การคัดกรองกับการวินิจฉัยโดยแพทย์ไม่เหมือนกัน การตรวจเลือดถือว่าเป็นการคัดกรอง แต่การเจาะน้ำคร่ำเป็นการวินิจฉัย โดยทุกวันนี้ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์คัดกรองด้วยวิธีการเจาะเลือดให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ตรงนี้ถือว่าไม่ถูกหลัก

ทั้งนี้ เนื่องจากคนที่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปนั้น ตัวอายุถือว่าเป็นตัวกรองอยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงสูง จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยคือการไปตรวจน้ำคร่ำเลย แต่ปัจจุบันเรากลับยังให้คนกลุ่มนี้ไปเจาะเลือดเพื่อคัดกรองอยู่

ดังนั้น หากต้องการจะบรรจุสิทธิประโยชน์เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนทุกกลุ่มวัย มีความแม่นยำสูง และคุ้มค่าคุ้มทุนมากที่สุด สิ่งที่ควรดำเนินการซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับในต่างประเทศก็คือ คัดกรองด้วยการเจาะเลือดแก่หญิงตั้งครรภ์อายุไม่เกิน 35 ปี ควบคู่ไปกับการเจาะน้ำคร่ำในหญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป

“ในต่างประเทศเขาทำวิธีนี้มานานมากแล้ว เพียงแต่ของไทยมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เราจึงเลี่ยงไปใช้วิธีไม่เหมาะสม ซึ่งอาจารย์แพทย์หลายท่านก็ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างมาก เพราะการมาคัดกรองในหญิงที่อายุมากแล้วถือว่าผิดหลักทางวิชาการมาก” รศ.นพ.ชเนนทร์ กล่าว

รศ.นพ.ชเนนทร์ กล่าวว่า ได้ทำวิจัยในกลุ่มตัวอย่างหญิงตั้งครรภ์ 4 หมื่นราย ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบว่าทุกๆ 1 บาท ที่ลงทุนในเรื่องนี้ จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปแบบต่างๆ รวมแล้วประมาณ 18 บาท ซึ่งหากต้องการคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงกลุ่มวัย ประมาณการว่าต้องใช้งบ 400 ล้านบาท ซึ่งจะได้ผลตอบแทนกลับคืนมาถึง 7,200 ล้านบาท

“การคัดกรองไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยุติการตั้งครรภ์ แต่เราทำเพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูล สามารถวางแผนชีวิตได้ คือเขาจะทราบว่าหลังจากคลอดบุตรแล้วจะเป็นอย่างไร จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ฉะนั้นเราไม่ได้มีเป้าหมายหรือให้คำแนะนำว่าจะต้องเอาบุตรออก แต่กว่า 90% ของคนไข้จะเลือกยุติการตั้งครรภ์ แต่ก็มีบางส่วนที่เลือกจะตั้งครรภ์ต่อ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องการตัดสินใจของครอบครัว” รศ.นพ.ชเนนทร์ กล่าว

รศ.นพ.ชเนนทร์ กล่าวอีกว่า กฎหมายอาญาไม่อนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ เว้นแต้ถ้าการตั้งครรภ์นั้นโดยส่งผลให้สุขภาพของแม่มีปัญหา ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นการเปิดช่องให้ไว้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ระบุว่าสุขภาพนั้น หมายถึงสุขภาพกายอย่างเดียว นั่นแปลว่าย่อมหมายถึงสุขภาพจิตด้วย ฉะนั้นการคลอดลูกออกมามีปัญหา แม่ก็จะมีปัญหาไปด้วย ขณะเดียวกันก็มีกฎของแพทยสภาออกมาช่วย แต่ทั้งหมดไม่ใช่ว่าจะยุติการตั้งครรภ์ได้ง่ายๆ จำเป็นต้องมีกรรมการร่วมกันวินิจฉัย ซึ่งในเรื่องของดาวน์ซินโดรมทั้งหมดเห็นตรงกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘สูตินรีแพทย์’ หนุนบัตรทองขยายสิทธิคัดกรอง ‘ดาวน์ซินโดรม’ ในแม่ทุกช่วงอายุ

หนุนขยายคัดกรองดาวน์ซินโดรมหญิงตั้งครรภ์ทุกกลุ่มวัย กรมวิทย์ฯ พร้อมเตรียมห้องแล็บรองรับ

เด็กดาวน์ซินโดรม 80% เกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 35 ปี หนุนขยายสิทธิคัดกรองหญิงตั้งครรภ์ทุกช่วงวัย