ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุแนวรบ “เมดิคัลทัวริสซึม” เปลี่ยน จากลูกค้า “ทั่วโลก” เหลือแค่ระดับ “ภูมิภาค” เตือนระวังลงทุนผิดทาง

ขอบคุณภาพจาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายอาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการประชุม “การค้าระหว่างประเทศและสุขภาพอาเซียน : แสวงจุดร่วมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN Trade and Health: Seeking a Common Ground Towards SDGs) ทีเมอเวนพิค เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2562 ตอนหนึ่งว่า จากข้อมูลล่าสุดภูมิทัศน์ของ “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” หรือ Medical Tourism เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยมีการแข่งขันในระดับภูมิภาคสูงขึ้น และไทย ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอีกต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ สังเกตได้จาก รัฐปีนัง ของมาเลเซียเอง ก็มีโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเกาะเมดาน อินโดนีเซีย จากประเทศใกล้เคียง สิงคโปร์เอง ก็ทำศูนย์การแพทย์ดึงดูดนักท่องเที่ยวและคนไข้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ที่อยู่ในประเทศ รวมถึงประเทศข้างเคียง

ส่วนในตลาดใหญ่อย่างจีนนั้น บรรดาโรงพยาบาลใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การแพทย์ของเมืองพิทส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย ก็ไปเปิดโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในจีน และศูนย์การแพทย์จากคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ ก็ไปเปิดโรงพยาบาลในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ในการที่คนไข้ จะเดินทางข้ามประเทศไกลๆ มารักษาในไทย แบบที่เคยเป็นมา

“เราพบว่า Medical Tourism มันเป็นไปในเชิง Regional หรือเป็นระดับภูมิภาค มากขึ้น ไม่ได้เป็นเรื่องระดับโลกเหมือนเดิม ประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็ทำ Medical Tourism กันหมด เช่น ปีนัง สิงคโปร์ หรืออินเดีย ต่างก็ทำศูนย์การแพทย์ขนาดใหญ่ของตัวเอง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว - คนไข้ จากประเทศรอบบ้าน ขณะที่ประเทศที่เคยส่งออกนักท่องเที่ยวเข้ามารักษาในแถบนี้ เช่น สหรัฐอเมริกาเอง ก็น้อยลง”

นายอาชนัน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ การแข่งขันด้านโรงพยาบาลใหญ่ที่ดึงดูด Medical Tourism จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยจะไม่ได้ดึงดูดเฉพาะคนที่ “รวยมากๆ” อีกต่อไปแล้ว โดยกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ อาจจะมีหลากหลายระดับรายได้มากขึ้น และหากประเทศนั้นๆ ยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาล และคุณภาพการรักษาได้ทัน ก็จะทำให้นักท่องเที่ยว – คนไข้ข้ามไปรักษาในประเทศใกล้เคียงแทน แต่ทั้งหมดนี้ ก็อาจไม่ได้นานนัก เพราะเมื่อโรงพยาบาลในประเทศสามารถพัฒนาคุณภาพได้มากขึ้น คนไข้กลุ่มนี้ ก็จะเลือกรักษาในประเทศต้นทาง แทนที่จะบินข้ามไปรักษาในประเทศอื่น

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องประเมินใหม่ก็คือ จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น Medical Tourism อาจไม่ใช่ธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ยาวนาน อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น การผลิตกำลังคนเพื่อป้อนไปยังธุรกิจนี้ อาจต้องประเมินผลใหม่

“ความน่าดึงดูดของ Medical Tourism จะอยู่แค่ระยะหนึ่งเท่านั้น ถ้าเราอยู่ภายใต้การประเมินผลที่ผิดที่ผิดทาง การลงทุนที่ผ่านมาอาจไม่คุ้มค่าอย่างที่คิด” นายอาชนันท์กล่าว

นอกจากนี้ นายอาชนัน ยังเสนอว่า ในเชิงนโยบาย อาจต้องพิจารณาว่า การผลิตกำลังคนในสายสุขภาพ ที่ใช้เวลาการผลิตค่อนข้างนาน 5-6 ปี นั้น หากผลิตแล้วตำแหน่งในการบรรจุไม่พอ อาจสามารถกระจายข้ามไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน เพื่อระบายคนได้หรือไม่ โดยปัจจุบัน หากมองในภาพกว้าง บางประเทศมีสัดส่วนพยาบาลต่อคนไข้มากเกินไป เช่น ในฟิลิปปินส์ มีจำนวนพยาบาล 60 คน ต่อคนไข้ 1 หมื่นคน แต่ในไทย ในมาเลเซีย กลับไม่ได้มีพยาบาลมากขนาดนั้น

ขณะเดียวกัน ประเทศอาเซียน ควรกำหนดทิศทางนโยบายด้าน Medical Tourism ร่วมกัน เพราะการข้ามพรหมแดนเพื่อรักษาในเชิง Medical Tourism ไม่ใช่เรื่องของประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป