ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลศรีบรรพต เผยใช้แอปฯอสม.ออนไลน์ สื่อสารกับ อสม.ให้ติดตามตัวผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ไม่มาพบแพทย์ตามนัด ช่วยลดปัญหาการขาดนัด ไม่ต้องตั้งงบค่าโทรศัพท์เพื่อใช้โทรติดตามอีก ด้าน รพ.สต.บ้านยางขาวเน้นใช้เพื่อสื่อสารจัดทำฐานข้อมูลผู้ป่วยเพราะค้นข้อมูลได้เร็วและง่ายกว่าเอกสารกระดาษ

นางพรทิพย์ เรืองพุทธ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน โรงพยาบาลศรีบรรพต จ.พัทลุง หนึ่งในหน่วยบริการที่ได้รางวัลดีเด่นระดับจังหวัดจากโครงการประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ปีที่ 2 กล่าวถึงภาพรวมการใช้งานแอปฯในปีนี้ว่า อสม.ของโรงพยาบาลทั้ง 84 คนมีความชำนาญในการใช้งานแอปฯมากขึ้น จากเดิมปีที่ผ่านมายังใช้ได้ไม่ครอบคลุมทุกฟังชั่น แต่ปีนี้สามารถใช้งานได้ครบหมด ไม่ว่าจะเป็นการนัดประชุม ส่งรายงาน เขียนข่าว ทำวิดีโอ ฯลฯ ขณะเดียวกันก็ยังใช้แอปฯนี้เป็นช่องทางการสื่อสารหลักอย่างเดียว จากเดิมปีก่อนยังมีกลุ่มไลน์อยู่ด้วย

สำหรับการประยุกต์ใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์ ของกลุ่มงานเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนยังเน้นในเรื่องการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ป่วยที่มีปัญหาติดบ้านติดเตียง โดยทาง อสม. จะลงพื้นที่วัดน้ำหนัก ค่าน้ำตาลในเลือด ค่าความดัน ฯลฯ แล้วส่งข้อมูลมาทางแอปฯ จากนั้นญาติก็มารับยาที่โรงพยาบาลได้เลยโดยไม่ต้องพาคนไข้มาด้วย หรือในกลุ่มที่ประเมินค่า ADL แล้วต่ำกว่า 11 บางครั้งต้องขอหนังสือรับรองความพิการจากแพทย์ ซึ่งทาง อสม.จะไปประเมินคนไข้แล้วส่งข้อมูลกลับมา แพทย์ก็สามารถพิจารณาออกใบรับรองความพิการทางการเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ ยังใช้ในการสื่อสารเพื่อติดตามผู้ป่วยที่ผิดนัด ขาดนัด ขาดยา โดยหากผู้ป่วยไม่มาพบแพทย์ตามนัดก็จะสื่อสารไปยัง อสม. ให้ไปติดตามตัว ทำให้สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องการผิดนัดได้เยอะมาก

"ด้วยความที่เป็นโรคเรื้อรัง บางทีผู้ป่วยก็ไม่มา มีผิดนัดเกือบทุกเดือน เดิมเราใช้วิธีโทรตามซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการโทร เมื่อก่อนฝ่ายของเราจะมีการตั้งงบประมาณค่าโทรศัพท์ไว้เดือนละ 300-400 บาท แต่ตอนนี้ได้ยกเลิกการตั้งงบตัวนี้ไป เพราะเรามาสื่อสารกันทางแอปฯอสม.ออนไลน์แล้ว"

ด้านนายชูเดช ชัยศรีชุติชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านยางขาว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ หนึ่งในหน่วยบริการที่ได้รางวัลดีเด่นระดับจังหวัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา อสม.ยังใช้งานแอปฯได้ไม่ครบ โทรศัพท์มือถือของบางคนยังเป็นแบบปุ่มกด แต่หลังจากที่ได้ใช้แล้วพบว่าช่วยให้การทำงานมีความสะดวกมากขึ้น เช่น การส่งรายงานประจำเดือนและรายงานการสำรวจลูกน้ำยุงลายทางแอปฯเลยไม่ต้องเอาข้อมูลมาบันทึกอีกรอบ นอกจากนี้ยังสามารถเปิดดูข้อมูลโรคต่าง ๆ และมั่นใจในการออกไปสื่อสารกับประชาชน ทำให้ปีนี้ อสม.ตื่นตัวกันมากขึ้น มีการเปลี่ยนเป็นสมาร์ทโฟนกันหมด บางคนที่เป็นผู้สูงอายุก็ให้ลูกหลานสอนให้ ทำให้ปัจจุบัน อสม.ของ รพ.สต.บ้านยางขาวสามารถใช้แอปฯนี้ได้ครบ 117 คน คิดเป็น 100% เต็ม

สำหรับการใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์ในเรื่องหลัก ๆ ทาง รพ.สต.จะเน้นใช้เพื่อเก็บฐานข้อมูลผู้ป่วยโดยให้ อสม. สำรวจผู้ป่วยกลุ่มต่าง ๆ เช่น ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน แล้วเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคนไว้แล้วส่งเข้ามาในห้องรายงานเหตุ เมื่อจะใช้งานข้อมูลก็สามารถเรียกดูได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้การวางแผนลงพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

"พื้นที่เรามีจำนวนผู้สูงอายุมาก มีประมาณ 500 กว่าคน จากประชากรเกือบ 3,000 คน เดิมเราเก็บข้อมูลเป็นกระดาษ สำรวจมาแล้วเก็บเป็นเอกสารไว้ พอเวลาจะเอาข้อมูลมาใช้จริงค่อนข้างยุ่งยาก แต่ตอนนี้ให้เก็บไว้ในแอปฯ เวลาจะดูข้อมูลก็สามารถเข้าไปดูได้เลยว่าคนนี้หน้าตาเป็นอย่างไร บ้านเลขที่อะไร หมู่อะไร ทำให้วางแผนการลงพื้นที่ได้ง่าย เช่น จะรู้ว่าทั้งตำบลมีหมู่ไหนที่มีผู้สูงอายุมากที่สุด แล้วสามารถพุ่งเป้าวางแผนไปที่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงกลุ่มมากขึ้น มันสะดวกรวดเร็วในการสืบค้นและเอามาใช้

นายชูเดช กล่าวต่อไปว่า ปีนี้ รพ.สต.บ้านยางขาวก็สมัครเข้าประกวดอีก แต่ไม่ได้คาดหวังเรื่องรางวัลแต่อย่างใด เป้าหมายหลัก ๆ คือนำแอปฯอสม.ออนไลน์มาใช้เพื่อสร้างความสะดวกในการทำงาน และอยากฝากถึง รพ.สต.อื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้ว่า แอปฯนี้เป็นแอปฯที่นำไปใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้งานก็ไม่ยาก ดังนั้นอยากให้ลองนำมาใช้งานกันดู

เรื่องที่เกี่ยวข้อง