ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงนาม มสธ.จัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวกับด้านการแพทย์แผนไทย มีระยะเวลาในการดำเนินการ 5 ปี เพื่อผลิตบุคลากรให้มีศักยภาพและเพียงพอต่อระบบบริการสุขภาพ สอดคล้องกับความต้องการในการให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชน และช่วยแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ลงนามความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เกี่ยวกับด้านการแพทย์แผนไทย

นพ.โอภาส กล่าวว่า การลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในครั้งนี้ เนื่องจาก 2 หน่วยงาน ได้ตระหนักถึงการพัฒนาบุคลากรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้มีระดับการศึกษาสูงขึ้นและมีทักษะที่จำเป็นในการให้บริการดูแลสุขภาพประชาชน รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพของหน่วยงาน ดังนั้นด้วยเจตนารมณ์ที่เห็นพ้องต้องกัน จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือทางวิชาการและดำเนินงานพัฒนาบุคลากรของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทย รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่ ในการจัดบริการด้านการศึกษา เพิ่มพูนความรู้ทางด้านวิชาการ การค้นคว้าวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และการส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผลงานทางวิชาการ บุคลากรและอื่นๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาหน่วยงานทั้ง 2 ในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีกิจกรรมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และ ด้านการวิจัยสมุนไพรร่วมกันอย่างมั่นคง ด้วยความเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การลงนามร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะมีระยะเวลาในการดำเนินการร่วมกัน 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ถึง 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้กำหนดขอบเขตของความร่วมมือ ดังนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะให้การสนับสนุนบุคลากรเป็นวิทยากรหรือผู้ทรงคุณวุฒิในการฝึกอบรม เป็นอาจารย์พิเศษ การจัดทำเอกสารการสอนหรือเป็นวิทยากรในการจัดทำสื่อการเรียนการสอน และอำนวยความสะดวก ในด้านสถานที่ วัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนวิทยากรในการจัดฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยได้จัดการศึกษา สำหรับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จะพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปตามความต้องการในการพัฒนาบุคลากรของกรม ให้คำปรึกษาและบริการทางวิชาการเกี่ยวกับการบริการและการพัฒนาองค์กร ความร่วมมือทางวิชาการ การประชุมทางวิชาการและกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรของกรมและเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัย เป็นต้น” นพ.โอภาส กล่าว