ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หลายคนคงคิดทำนองเดียวกัน หลังจากเริ่มเห็นข่าวเยลลี่กัญชาที่มีการซื้อหาและนำมาใช้กันในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่นและวัยทำงาน

หากเราคิดตาม คงน่ากลัวไม่น้อย หากเด็ก ๆ หรือเยาวชนนั้นนำมากินโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แยกแยะไม่ได้ว่าเยลลี่/กัมมี่เคี้ยวหนึบที่ได้รับมาจากเพื่อนฝูงหรือซื้อหาจากแหล่งต่าง ๆ นั้น มันเป็นเยลลี่ธรรมดาที่ขายเพียงความอร่อย หรือมันเป็นเยลลี่ยาเสพติด ที่กินแล้วส่งผลต่อจิตประสาท มึนเมา กินแล้วเบลอ ไม่รู้สติ และเสี่ยงต่อเหตุการณ์อาชญากรรมต่าง ๆ ตามมาได้

Goodman S และคณะได้เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชายาเสพติดนี้ในวารสารวิชาการทางการแพทย์ Drug and Alcohol Dependence เมื่อ 17 ตุลาคม 2019 ที่ผ่านมานี้เอง

เค้าศึกษาในปี ค.ศ.2018 ในกลุ่มประชากรอายุตั้งแต่ 16-65 ปี จำนวนถึง 9,987 คนในแคนาดา และในอเมริกาจำนวน 7,376 คนในรัฐที่เสรีกัญชาและ 9,682 คนในรัฐที่ไม่ได้เสรีกัญชา เพื่อลองประเมินดูว่า ผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งของกินอย่างเยลลี่/กัมมี่ น้ำมัน และแบบมวนนั้น หากถูกนำมาจำหน่ายแก่สาธารณะแล้ว รูปแบบผลิตภัณฑ์ใดที่จะเป็นที่ต้องตาตรึงใจคนวัยต่าง ๆ เพื่อจะได้นำไปวางมาตรการติดตามกำกับและควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาเค้าพบว่า ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีอิสระในการตกแต่งบรรจุภัณฑ์ทั้งชื่อแบรนด์และโลโก้โดยปราศจากการควบคุมนั้นมักจะดึงดูดใจกลุ่มเยาวชนให้ซื้อหามาใช้

ในขณะที่บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์กัญชาที่มี "คำเตือนเกี่ยวกับผลต่อสุขภาพ" นั้นจะทำให้แรงจูงใจในการซื้อหามาใช้ลดลงอย่างชัดเจน

ที่น่าสนใจคือ ผลิตภัณฑ์อย่างเยลลี่/กัมมี่กัญชานั้น ตัวมันเองจะดึงดูดให้เยาวชนซื้อหามาใช้ มากกว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันและแบบมวนอย่างมีนัยสำคัญ

หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไป พบว่า เยลลี่/กัมมี่กัญชานั้นจะดึงดูดใจมากสำหรับคนทั้งในวัย 16-18 ปีและ 19-35 ปี เมื่อเทียบกับกลุ่มที่สูงอายุ (สงสัยเพราะคนสูงอายุจะเคี้ยวลำบากเลยไม่ชอบ)

ที่เล่ามานี้ เล่ามาเพื่อให้คิดตาม และลองพิจารณาดูว่า ลูกหลานของท่านในอนาคตจะอยู่ในสังคมอุดมกัญชา ท่านจะช่วยเค้าอย่างไรบ้างให้รู้เท่าทัน และจัดการกับเหตุการณ์ต่าง ๆ รอบตัวในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

การไปทุ่มกำลังเพื่อทำกฎหมายบรรจุภัณฑ์บุหรี่นั้นคงไม่พอแล้วสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต แต่ควรทำไว้ล่วงหน้าสำหรับผลิตภัณฑ์กัญชายาเสพติดด้วย

ยิ่งหากมีความเคลื่อนไหวพิลึก ๆ ที่จะปลดล็อคให้ปลูกกัญชากันอย่างเสรีในแต่ละบ้านด้วยแล้ว ไม่ต้องมานั่งอ้างข้าง ๆ คู ๆ ว่ากรูจะใช้สำหรับการแพทย์ เพราะไม่ต้องอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ว่าเธอคิดอะไรอยู่...

เมื่อทราบแล้วก็ควรเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมป้องกันกันเสียที ไม่ต้องรอวัวหายแล้วล้อมคอก

กระแสกดดัน ผลักดัน ดึงดัน และสารพัดดันเรื่องกัญชาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้รับการดำเนินไปอย่าง "สับสน" ทั้งเรื่องความรู้ การกระทำ ระบบกลไก และนโยบาย

สายเขียวคงด่าว่า สับสนอะไรกัน แกต่างหากที่ไม่รู้เรื่อง

หากด่าแบบนั้น ก็ไม่ระคายอะไร เพราะเราจะพิสูจน์กันในสถานการณ์จริงว่า จะเกิดปัญหาตามมาจากการผลักดันนโยบายอย่างไม่รอบคอบอย่างที่เคยชี้ให้เห็นและให้คิดทบทวนกันหรือไม่

ประกาศนโยบายไป ผลักดันกันสุดลิ่มทิ่มประตู

เปิดคลินิกกัญชา แต่คนติดตามดูก็ดูด้วยความสับสนว่าจะดำเนินการตามมาตรฐานการแพทย์แผนปัจจุบันหรือการแพทย์พื้นบ้าน/การแพทย์ทางเลือก

สำหรับการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นชัดเจนมากว่า กัญชาใช้ในการแพทย์ได้จำกัดมาก หลักฐานวิชาการทั่วโลกที่มี และได้รับการทบทวนอย่างรอบคอบ พบว่า มีที่ใช้น้อยมาก และไม่สามารถนำมาใช้เป็นการรักษามาตรฐานได้ ใช้ได้ในกรณีไม่มีทางเลือกหรือล้มเหลวจากการรักษามาตรฐานแล้วเท่านั้น

ทั้งต่างประเทศ อย่าง National Institute of Health and Care Excellence ของสหราชอาณาจักร, ราชวิทยาลัย สมาคมวิชาชีพแพทย์ต่าง ๆ ก็ล้วนออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเรื่องกัญชาทางการแพทย์มาอย่างชัดเจน ไปตามดูได้

ส่วนในประเทศไทยนั้น แพทยสภา ตลอดจนราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ ก็ออกแถลงการณ์มาสอดคล้องกับต่างประเทศเช่นกัน

ไม่ควรแถแล้วอ้างตัวบุคคลโน่นนี่นั่น จะโดยตำแหน่ง รางวัล หรืออะไรก็ตาม แล้วจะมาใช้เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานแล้วให้แพทย์แผนปัจจุบันทั้งประเทศปฏิบัติตาม วิธีเช่นนี้คนปกติที่มีสติและใช้ปัญญาในการคิดตัดสินใจจะไม่สามารถยอมรับได้

ยิ่งหากมาอ้างว่าอย่าให้เชื่อตำรา ยิ่งไปกันใหญ่ แบบนี้ไม่เรียกตรรกะวิบัติ แต่เป็นตรรกะ"เรือหาย" เพราะสุดท้ายแล้วคงต้องย้อนกลับมาว่า แต่ละคนเติบโตขึ้นมา เรียนรู้จากอะไรกันหว่า ประสบการณ์ล้วน ๆ เลยไหม ไม่อ่านไม่เชื่อไม่คิดตามตำราตามหนังสือ แล้วจบการศึกษา ทำงานมาได้อย่างไร?

หนังสือและตำราต่าง ๆ นั้นคือการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ของผู้รู้ออกมาในลักษณะที่เป็นแบบแผน จับต้องได้ และผ่านการกลั่นกรองหรือพิสูจน์มาตามขั้นตอน

ไอ้ที่กล่อมหรือปั่นป่วนคนในสังคมให้เชื่อจากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ "ไม่ได้" รับการกลั่นกรอง พิสูจน์ หรือผ่านขั้นตอนด่านอรหันต์ต่าง ๆ ตามมาตรฐานสากลน่ะ ถามจริง ๆ เหอะ คนปกติที่มีสติและปัญญาเค้าควรจะเชื่ออะไรมากกว่ากัน

ความสับสนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จนเกิดผลกระทบต่าง ๆ ตามมาเรื่อย ๆ นั้น เปรียบเหมือนสึนามิจากนโยบายที่ประกาศไป

ที่เห็นในช่วงที่ผ่านมายังเป็นเพียงสึนามิลูกเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนคนป่วยที่หามส่งโรงพยาบาลจากการใช้กัญชามั่วซั่ว ตลอดจนการขยายตัวของตลาดค้าขายกัญชาทั้งในรูปแบบวัตถุดิบและในแบบผลิตภัณฑ์หลากหลายมากมาย จนมาถึงกรณีศึกษาของเยลลี่กัญชาที่ได้รับการนำมาใช้ในกลุ่มเยาวชนและคนทำงาน และซื้อหาได้ง่ายในสังคม

สึนามิลูกใหญ่จะตามมา และจะมาในลักษณะที่เป็นผลกระทบวงกว้างในสังคม ทั้งเรื่องสุขภาพ อาชญากรรม อุบัติเหตุ และอื่น ๆ ดังที่ต่างประเทศกำลังประสบปัญหากันอยู่

คงต้องช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิด

อวิชชาจะทำให้เราเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ดังที่เรียกกันว่า "ความเชื่องมงายและหลงผิด" (Delusional belief)

สิ่งที่เราควรรับรู้ไว้ก็คือ ในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้นสังคมนี้ กิเลสและความกลัวถูกนำมาใช้ปั่นสังคมให้เกิด Delusional belief ได้มากเกินกว่าที่จะคาดประมาณได้ เพราะกิเลสและความกลัวนี้ถูกเล่นผ่านข้อมูลข่าวสารลวงโลกที่ยากแก่การตรวจสอบ

ด้วยรักต่อทุกคน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิง

Goodman S et al. The impact of plain packaging and health warnings on consumer appeal of cannabis products. Drug and Alcohol Dependence. 2019; 205:107633.

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์