ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา สภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา เพิ่งผ่านร่างกฎหมาย HR1309 ว่าด้วย “การป้องกันความรุนแรงสำหรับบุคลากรสาธารณสุข และบุคลากรผู้ทำงานบริการสังคม” หรือ “Workplace Violence Prevention for Health Care and Social Service Workers Act,” เพื่อปกป้อง “ความรุนแรง” จากคนไข้ที่กระทำต่อบุคลากรสาธารณสุขทั่วอเมริกา ด้วยเสียง 251 ต่อ 158 ตามที่ โจ คอร์ทนีย์ ส.ส.พรรคเดโมแครตจากรัฐแมสซาชูเซตส์เสนอต่อสภา

ในคำอธิบายสรุปร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้กระทรวงแรงงาน ต้องจัดการกับความรุนแรงในสถานที่ทำงานทั้งในภาคบริการด้านสุขภาพและบริการสังคม โดยจะต้องมีการประกาศมาตรฐานด้านความปลอดภัยเฉพาะกลุ่มทั้ง 2 วิชาชีพนี้อย่างเข้มงวด รวมถึงต้องพัฒนาและสร้างแผนคุ้มครองคนทำงานทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

หากประกาศใช้เป็นกฎหมาย “นายจ้าง” หรือเจ้าของสถานที่ทำงาน จะมีเวลา 1 ปี ในการจัดทำแผนเพื่อคุ้มครองบุคลากรสาธารณสุขในสถานพยาบาลของตัวเอง และมีเวลาอีก 42 เดือน ในการจัดทำแผนเพื่อสืบสวนสาเหตุแห่งความรุนแรง ให้ความรู้บุคลากรในการ “ประเมินความเสี่ยง” และสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับบุคลากรสาธารณสุข และผู้ที่ทำงานบริการสังคม ในการรายงาน “เหตุรุนแรง” หรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายต่อการทำงาน ต่อนายจ้าง และเจ้าของสถานที่ทำงานอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าว ไม่ได้ “เพิ่มโทษ” ให้กับผู้ที่ก่อเหตุรุนแรง เพียงแต่เป็นการ “บังคับ” ให้กระทรวงแรงงาน ต้องแสดงบทบาทเพื่อปกป้องบุคลากรในวิชาชีพเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงบังคับสถานพยาบาลให้ต้องจัดทำ “ไกด์ไลน์” เพื่อรับมือกับเหตุรุนแรง และให้บุคลากรทางการแพทย์ “รับมือ” กับเหตุรุนแรงในสถานพยาบาลอย่างมืออาชีพ ไม่ถูกดูหมิ่น หยามเกียรติ หรือถูกประทุษร้ายทั้งด้วยวาจาและด้วยร่างกาย อย่างในปัจจุบัน

สส.จากแมตซาชูเซตส์ บอกว่า หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่าน คุณูปการอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการ “ประกาศ” ให้กับคนอเมริกันทั่วประเทศรู้ว่าความรุนแรงในสถานพยาบาล และต่อบุคลากรทางการแพทย์นั้น มีอยู่จริง และทุกคนควรจะให้เกียรติวิชาชีพเหล่านี้ มากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากบุคลากรสาธารณสุขทั่วสหรัฐฯ มากกว่า 75% จาก 2.5 หมื่นคน (ที่ถูกสำรวจ) มีประสบการณ์ถูกคนไข้ หรือญาติคนไข้ใช้ความรุนแรงทั้งด้วยวาจา และด้วย “การกระทำ” โดยความรุนแรงดังกล่าว เกิดขึ้นในสถานที่ที่ไม่ควรจะเกิด นั่นคือโรงพยาบาล คลินิก เนิร์สซิงโฮม หรือสถานให้บริการด้านสังคมสงเคราะห์อื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังพบว่า บุคลากรทั้ง 2 วิชาชีพ มีประสบการณ์กับความรุนแรงในสถานที่ทำงานมากกว่าวิชาชีพอื่น ๆ ถึง 20% จากการสำรวจผู้เสียหายด้านอาชญากรรมแห่งชาติ ขณะที่สมาพันธ์พยาบาลแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ก็พบเช่นเดียวกันว่า มากกว่า 1 ใน 4 ของพยาบาลทั่วประเทศ เคยถูกคนไข้ หรือญาติคนไข้ทำร้ายทางร่างกาย

ในวารสารทางการแพทย์ The American Journal of Managed Care ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีบทความวิจัยชื่อเรื่อง “ความรุนแรงต่อบุคลากรด้านสุขภาพ : โรคระบาดที่ลุกลาม” โดยเนื้อหาในบทความระบุว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อ “พยาบาล” นั้น เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษแล้ว ซึ่งมิเชลล์ มาฮอน ตัวแทนจากสหภาพพยาบาลสหรัฐฯ บอกว่า อาจเป็นเพราะการดูแลสุขภาพคนไข้ โดยเฉพาะในแผนกฉุกเฉิน จำเป็นต้องแบกรับ “ความแปรปรวน” ทางอารมณ์ของคนไข้ และญาติคนไข้มากที่สุด เพราะคนไข้เหล่านี้ ล้วนตกอยู่ในความหวาดกลัวและเปราะบาง

เช่นเดียวกับสมาชิกในครอบครัว ต่างก็กลัวและเครียดเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นอาการทางจิตเวช หรือการแสดงความ “รุนแรง” ทางอารมณ์ ซึ่งอาจไม่ได้ถูกแสดงบ่อย ได้ระเบิดออกมา เช่นเดียวกับได้เห็นความรุนแรงจากบรรดา “แก๊ง” และบางครั้ง ก็รุนแรงถึงขั้นใช้อาวุธปืน กระทำต่อพยาบาล เพราะเกิดความเครียด ความไม่พอใจ ต่อการรักษา

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาเหล่านี้จะเป็นปัญหาที่บรรดา สส. พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขเห็นตรงกันว่าควรมีกฎหมายคุ้มครอง แต่ใน “สภาสูง” หรือวุฒิสภา ซึ่งพรรครีพับลิกันครองเสียงส่วนใหญ่นั้น การผ่านกฎหมายนี้กลับไม่ง่ายนัก เพราะ สว.จากพรรครีพับลิกัน เห็นว่ากฎหมายดังกล่าวยังมีรายละเอียดไม่เพียงพอ และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาอย่าง “รีบร้อน” เกินไป รวมถึงอาจไม่ใช่ทางแก้ความรุนแรงในสถานพยาบาลได้ แม้จะเห็นใจบุคลากรสาธารณสุขที่ถูกทำร้ายปีละจำนวนไม่น้อยก็ตาม

สำหรับในไทย มีเสียงเรียกร้องให้ออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์เช่นกัน หลังเกิดเหตุคนไข้ทำร้ายพยาบาล ทำร้ายร่างกายแพทย์ด้วยของมีคม หรือเหตุทะเลาะกันในห้องฉุกเฉิน แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่ไปไกลถึงขั้น “ร่างกฎหมาย” เพื่อคุ้มครองวิชาชีพเหล่านี้ มีเพียงความพยายามในเชิงนโยบายเพื่อแยก “ห้องฉุกเฉิน” สีแดง สำหรับเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องช่วยชีวิต โดยกำหนดให้หมอ และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่สามารถเข้าไปได้ กับห้องฉุกเฉินทั่วไปเท่านั้น โดยหวังว่า หากสามารถแยกพื้นที่ฉุกเฉินได้จริง จะสามารถบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น และอาจเกิดเหตุรุนแรงกับหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์น้อยลง

ส่วนภาระงานที่หนักหนา ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และการรองรับอารมณ์ของคนไข้ ที่อาจเครียดจากการรอตรวจนาน รับการรักษาที่ไม่ถูกใจ หรือการ “ไม่สบอารมณ์” กับบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยสาเหตุร้อยแปด บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ในไทย อาจต้อง “ฝึกฝน” เอาเอง

แปลและเรียบเรียงจาก

1.Healthcare Remains America’s Most Dangerous Profession Due To Workplace Violence [www.forbes.com]

2.WHAT THE NEW HOUSE BILL ON WORKPLACE VIOLENCE PREVENTION WOULD MEAN FOR HEALTH CARE WORKERS [www.newsweek.com]