ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กรมแพทย์แผนไทย” ปลื้ม ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “นวดไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมฯ ชี้ เป็นวัฒนธรรมมหัศจรรย์ช่วยรักษาโรค ต่อยอดสร้างอาชีพ ทำรายได้ เผยเร่งทำ “บิ๊กดาต้า” ข้อมูลนวดทั่วไทย พร้อมเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ ยกมาตรฐานหมอนวด-ร้านนวด ตีกรอบถ่ายทอดความรู้ให้ต่างชาติได้แค่ไหน

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีที่องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนนวดไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทยเสนอเรื่องนวดไทยไปยังยูเนสโกเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มา 2 ปี แล้ว โดยตอนนั้นเสนอพร้อมกับโขนแต่ยูเนสโกขอให้ส่งปีละ 1 เรื่อง ทางเราจึงตกลงกันว่าจะส่งโขนก่อน มาปีนี้ก็เป็นเรื่องนวดไทย ซึ่งล่าสุดได้รับการประกาศให้เป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก ซึ่งการที่ยูเนสโกพิจารณานั้น จะมองที่การเกิดประโยชน์กับมวลมนุษยชาติที่จะได้ร่วมกัน อย่างนวดไทยเป็นมีหลายระดับ ทั้งการนวดในชุมชน นวดในสถานประกอบการ นวดรักษาในสถานพยาบาล ซึ่งการนวดไทยเป็นวัฒนธรรมที่มีความมหัศจรรย์ สามารถรักษาโรคได้โดยไม่ต้องใช้ยา อาทิ รักษาโรคไมเกรน ความดัน การปวดเมื่อย อัมพฤกษ์ อัมพาตก็ช่วยได้ดี และเราเองก็มีการพัฒนาจนสร้างงานสร้างอาชีพได้

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติการส่งเสริมและพัฒนานวดไทย (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2563-2565 เอาไว้แล้ว เมื่อประกาศขึ้นทะเบียนแล้วก็สามารถขับเคลื่อนได้เลย หลักๆ จะเป็นเรื่องการยกระดับมาตรฐานสถานที่ให้บริการนวดไทย มาตรฐานผู้นวดไทย ซึ่งต้องมีการเรียนการสอนแบ่งเป็นระดับๆ เพื่อทำให้การนวดไทยเป็นการให้บริการที่มีคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศรวมถึงการสืบสานการนวดไทยทั้งในส่วนของประชาชน ชุมชนด้วย และอย่างที่เรียนว่าเมื่อมีการประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว นั่นหมายความว่าก็ต้องเปิดโอกาสให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ แต่ก็ต้องมาพิจารณาวางแผนกันต่อว่าสามารถให้ได้แค่ไหน อย่างไร

นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า เรามองว่าการทำแล้วจะได้ประโยชน์กับคนไทยเป็นหลัก เป็นประโยชน์ในการสร้างงานสร้างอาชีพของคนไทยไม่ว่าจะเป็นการทำงานในเมืองไทยหรือไปทำงานต่างประเทศก็ตาม โดยต้องมีการเรียนการสอน และยกระดับมาตรฐานผู้นวด และโรงเรียนสอนนวดให้มีมาตรฐานสูงขึ้นด้วย ในส่วนนี้จะมีการร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงานเพื่อยกระดับส่วนนี้ เพื่อนำไปสู่การยกระดับค่าตอบแทนให้มากขึ้นตามาตรฐานฝีมือด้วย เช่น นวดเพื่อรักษาก็ต้องมีมาตรฐานระดับหนึ่งที่สูงขึ้น ได้รับค่าตอบแทนจะชั่วโมงละเป็นพันบาท หากนวดเพื่อสุขภาพก็เป็นอีกระดับ ซึ่งค่าตอบแทนจะแตกต่างกันไปด้วย

“การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะครอบคลุมการนวดทั้งหมดที่มีอยู่ในสังคมไทย ซึ่งขณะนี้ทางกรมฯ ได้จัดทำบิ๊กดาต้าเกี่ยวกับการนวดไทยมาได้ระยะหนึ่งแล้วว่ามีการนวดอะไรบ้าง จารึกอยู่ที่ไหน ผู้นวดเป็นใครบ้าง เป็นต้น คาดว่าราว ๆ ต้นปีหน้าจะมีการประกาศให้ทราบ เบื้องต้นข้อมูลที่มีการจารึกไว้ หรือที่มีอยู่ในสถานพยาบาล สถานประกอบการต่าง ๆ นั้นรวบรวมไม่ยาก แต่ที่ยังยากคือการนวดในชุมชุนซึ่งกระจัดกระจายอยู่ อย่างตอนนี้ในเรื่องของผู้นวดในสถานพยาบาล ที่ทำการนวดเพื่อรักษามีประมาณ 1-2 หมื่นราย การนวดในร้านนวด สปา นวดเพื่อผ่อนคลาย อีกหลายหมื่นราย ส่วนการนวดในชุมชนคาดว่าจะมีนับแสนราย” นพ.ปราโมทย์ กล่าว